กาแฟ Specialty ไทยผงาดที่ 1 อาเซียน เปิดศักยภาพกาแฟไทยสู่เวทีโลก l การตลาดเงินล้าน

ภาพรวมของตลาดกาแฟในประเทศเติบโตต่อเนื่อง โดยมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 65,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 8 ต่อปี แต่หากดูเฉพาะกลุ่มตลาดกาแฟพิเศษ หรือ Specialty Coffee (สเปเชียลตี้ คอฟฟี) มีอัตราการเติบโตสูงกว่า อยู่ที่ร้อยละ 15 ต่อปี ปัจจุบันมูลค่าอยู่ประมาณ 28,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดรวม
คุณ ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย ให้ข้อมูลว่า ในแง่ของมูลค่าตลาด อุตสาหกรรมกาแฟพิเศษของไทย อยู่อันดับ 2 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ซึ่งอินโดนีเซีย มีความได้เปรียบมากกว่าไทยจากการเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรกว่า 270 ล้านคน ส่วนไทยมีประชากรอยู่ประมาณ 71 ล้านคน
แต่หากดูในแง่ของความก้าวหน้า กาแฟพิเศษไทย มีความก้าวหน้ามากจนเป็นที่ยอมรับในการเป็นที่ 1 ของอาเซียน ทั้งด้านการผลิต และการบริโภค ซึ่งปัจจุบันมีร้านกาแฟดี ๆ กระจายตัวในประเทศอยู่จำนวนมาก และหลายๆ จังหวัดก็เริ่มที่จะเป็น ฮับของ กาแฟ สเปเชียลตี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังสามารถหาซื้อเมล็ดกาแฟดี ๆ ทางออนไลน์ได้ และสิ่งที่ไม่เหมือนใครก็คือ การที่ผู้บริโภคสามารถเดินทางไปถึงแหล่งปลูกกาแฟได้ ซึ่งในต่างประเทศไม่มีในเรื่องนี้ นอกจากนี้ งานไทยแลนด์ คอฟฟี่ เฟสต์ (Thailand Coffee Fest) ก็ได้รับการยอมรับในการเป็นเวทีระดับภูมิภาค และเป็นเทศกาลกาแฟที่ใหญ่สุดในอาเซียน อีกด้วย
สำหรับการเติบโตในประเทศ กาแฟพิเศษ มีอัตราการเติบโตสูงกว่าตลาดรวม นานกว่า 10 ปีแล้ว และยังมีจุดเปลี่ยนหลัก ในช่วงโควิด 19 ระบาด ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน ซึ่งผู้บริโภคมุ่งหาความสุขระหว่างวันที่บ้านมากขึ้น และให้ความสำคัญกับเรื่องของ คุณค่า
ขณะเดียวกัน เป้าหมายในการทำงานของสมาคมฯ คือการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งหากพูดถึงแหล่งปลูกจะต้องอยู่ในที่ที่ดี และเน้นในเรื่องความยั่งยืน จึงตรงกับใจของผู้บริโภค ที่ให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ โดยไม่ได้มองถึงเรื่องราคา แต่ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งนั้นคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อรู้สึกว่าคุ้มค่า ก็ยินดีที่จะจ่าย และด้วยเหตุนี้ ทำให้ตลาดกาแฟพิเศษไทย เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงดังกล่าว
ส่วนแนวโน้มของตลาดกาแฟพิเศษไทย จากนี้ไป คุณ ณัฏฐ์รดา ประเมินว่า จะมีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง ถือเป็นความท้าทายของทุกอุตสาหกรรม รวมถึงกาแฟพิเศษไทยด้วย
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจจะทำให้ตลาดชะลอตัว แต่ก็ไม่เป็นห่วงนัก เพราะตราบใดที่ผู้บริโภคยังรู้สึกคุ้มค่า พวกเขาก็ยินดีจะจ่าย
ส่วนเทรนด์ ชาเขียว ที่กำลังมาแรง มองว่าไม่ใช่การแย่งลูกค้ากัน เพราะไม่ใช่สิ่งที่มาแทนกันได้ ด้วยรสชาติที่ไม่เหมือนกัน จึงขึ้นอยู่กับผู้บริโภคมากกว่า ว่าในช่วงเวลานั้นเขาต้องการดื่มอะไร และอาจจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ จากกรณีคนที่ไม่ดื่มกาแฟ แต่ดื่มชาเขียว เมื่อเขาเริ่มชอบเครื่องดื่มชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ก็เชื่อว่าจะเพิ่ม กาแฟ เป็นทางเลือกให้กับตัวเองต่อไปได้
สำหรับแนวโน้มราคาเมล็ดกาแฟ ปีนี้ยังเป็นปีที่ราคากาแฟอยู่ในระดับสูง แต่ถือว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว จึงเชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อราคาปลายทาง
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
