รีเซต

"พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ" เปลี่ยนโฉมบทลงโทษทางอาญา

"พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ" เปลี่ยนโฉมบทลงโทษทางอาญา
TNN ช่อง16
28 ตุลาคม 2566 ( 14:32 )
143
"พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ" เปลี่ยนโฉมบทลงโทษทางอาญา


ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ได้ถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการ


ซึ่งในตัวบท กฎหมายของ พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ ฉบับนี้ ถือเป็นการปรับปรุงกฎหมายในส่วนของการกำหนดมาตรการลงโทษ ให้เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด เพื่อไม่ให้บุคคลต้องรับโทษเกินสมควร 


ทีมข่าว TNN Online ได้สรุปความหมายของคำว่า ‘โทษปรับเป็นพินัย’ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นดังนี้ 


- เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ใช้แทนโทษทางอาญาและทางปกครอง 

- เงินค่าปรับที่เจ้าหน้าที่เรียกปรับเป็นการชำระให้แก่รัฐ 

- โทษประเภทนี้ ใช้สำหรับผู้กระทำความผิดไม่ร้ายแรง และโดยสภาพความผิดนั้นไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง หรือไม่กระทบกับสังคมกว้างขวาง

- การปรับเป็นพินัยจะไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับ รวมทั้งไม่มีการบันทึกข้อกล่าวหาลงในประวัติอาชญากรรม


ในส่วนของสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 สรุปได้ดังนี้


เปลี่ยนความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.บ. จำนวน 204 ฉบับ ให้เป็น ‘ความผิดทางพินัย’ และผู้กระทำความผิดต้องชำระ ‘ค่าปรับเป็นพินัย’

ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายมีอำนาจปรับเป็นพินัย ถ้าผู้กระทำความผิดยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนและเวลาที่กำหนดให้คดีเป็นอันยุติ แต่ถ้าไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ส่งสำนวนให้อัยการฟ้องคดีต่อศาล

ผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระค่าปรับเป็นพินัย แต่ไม่ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนด ให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สิน

การกำหนดค่าปรับเป็นพินัยต้องให้เหมาะสมกับความรุนแรงของการกระทำความผิดและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด สามารถขอผ่อนชำระค่าปรับฯ เป็นรายงวดได้ แต่ถ้าไม่มีเงินชำระค่าปรับฯ ขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนได้

หากทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนเหลือทนทาน หรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต ผู้กระทำความผิดสามารถยื่นคำร้องเพื่อให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือขอทำงานบริการสังคมทดแทนได้


ตัวอย่าง พ.ร.บ. ที่เปลี่ยนจากโทษปรับทางอาญา-ปกครอง เป็นโทษปรับเป็นพินัย เช่น


- พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 

- พ.ร.บ.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 

- พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 

- พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 

- พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 

- พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 


ซึ่งจากรายงานมีข้อมูลว่า มีกว่า 204 พ.ร.บ. ที่เข้าเกณฑ์เปลี่ยนการกำหนดบทลงโทษให้เป็นโทษปรับเป็นพินัย ซึ่งในส่วนสำนักงานตำรวจแห่ง (ตร.) มีกฎหมายที่รับผิดชอบโดยตรง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 

 

ทั้งนี้หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ อย่างเป็นทางการ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้ออกแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อให้ข้าราชการตำรวจซึ่งถือว่าเป็น เจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่เหมาะสมต่อประชาชน


ทีมข่าว TNN Online สรุปใจความของแนวทางดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้ 


ใบสั่งที่เป็นแบบเล่มต้องถูกเรียกคืนทั้งประเทศ ตั้งแต่ 25 ตุลาคม 2566 โดยจะมีการปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องต่อพ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ

ในส่วนเจ้าพนักงานจราจรที่ดำรงตำแหน่งสารวัตรหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปเท่านั้นถึงมีสิทธิออกใบสั่ง(ระบุค่าปรับตามพ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ) สำหรับเจ้าที่ที่ตำแหน่งลดล่างลงมา ให้บันทึกข้อความ เป็นรายละเอียดข้อมูลผู้ที่ถูกแจ้งความ ข้อกล่าวหา อัตราค่าปรับ นำส่งให้สารวัตรต่อไป

ใบสั่งมี 3 รูปแบบ ใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรสำหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ/ใบสั่งสำหรับส่งทางไปรษณีย์/ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์

การออกใบสั่งต้องแนบคำแจ้งสิทธิตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย คือแจ้งประชาชนถึงสิทธิการขอผ่อนชำระ/สิทธิขอชำระค่าปรับต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด/บริการสาธารณะแทนการปรับ

ช่องทางการชำระค่าปรับจราจรมี 3 ช่องคือ ทางอิเล็กทรอนิกส์/ไปรษณีย์/สถานีตำรวจ

กรณีที่พ้นระยะเวลาชำระค่าปรับตามหนังสือเตือน หรือผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวบรวมหลักฐานทำสำนวนส่งอัยการฟ้องต่อศาลต่อไป


ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกำหนดบทลงโทษที่จุดประสงค์เพื่อต้องการลดความหนักเบาของบทลงโทษให้เหมาะสมต่อความผิดที่ก่อ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีคนส่วนหนึ่งที่กังวลว่าอาจจะมีคนบางกลุ่มมองว่าจากนี้การกระทำผิดทุกอย่างเพียงแค่จ่ายค่าปรับก็จะจบเท่านั้น


ซึ่งก็เป็นโจทย์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ผู้พิทักษ์รักษากฎหมายและบังคับใช้กฎหมายที่จากนี้จะต้องวางแนวทางให้เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนยังเคารพต่อกฎหมาย เหมือนเช่นก่อนหน้านี้


แต่ประชาชนเองก็อย่าได้นิ่งนอนใจไปถึงแม้บทลงโทษหลายข้อจะถูกปรับโทษให้เหลือเพียงการจ่ายค่าปรับ แต่สำหรับความผิดที่กระทบต่อบุคคลอื่น ต่อสังคมเป็นวงกว้างและมีความร้ายแรง ในความผิดต่างๆเหล่านั้นยังคงมีการลงโทษตามกฎหมายอาญาอยู่เช่นเดิม





ภาพ : TNNOnline 



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง