รีเซต

ตระการตา ! ESA เผยภาพ 3 มิติ ของ ‘เขาวงกตแห่งรัตติกาล’ บนดาวอังคาร

ตระการตา ! ESA เผยภาพ 3 มิติ ของ ‘เขาวงกตแห่งรัตติกาล’ บนดาวอังคาร
TNN ช่อง16
22 ตุลาคม 2566 ( 12:50 )
30
ตระการตา ! ESA เผยภาพ 3 มิติ ของ ‘เขาวงกตแห่งรัตติกาล’ บนดาวอังคาร

ยานอวกาศมาร์สเอ็กซ์เพรส (Mars Express) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้จับภาพที่น่าทึ่งของ “น็อกทิส ลาบิรินธัส” (Noctis Labyrinthus) หรือ "เขาวงกตแห่งรัตติกาล" ภูมิศาสตร์อันโดดเด่นแห่งหนึ่งบนดาวเคราะห์แดงนี้


วิดีโอดังกล่าวเกิดจากการรวมภาพถ่ายด้วยกล้องสเตอริโอความละเอียดสูง (HRSC) ของยานอวกาศมาร์สเอ็กซ์เพรส จากทั้งปี 2006 และปี 2015 ซึ่งมันได้แสดงให้เห็นพื้นที่ทางทิศตะวันออกของ Noctis Labyrinthus ที่ตระการตา นอกจากนี้ ภารกิจของมาร์ส เอ็กเพรสยังได้มีการใช้แบบจําลองภูมิประเทศดิจิทัลเพื่อช่วยสร้างวิดีโอที่ถ่ายทอดภูมิทัศน์สามมิตินี้ โดยแต่ละวินาทีของวิดีโอประกอบด้วยภาพถึง 50 เฟรม ตามทิศทางของกล้องที่กําหนดไว้แล้วล่วงหน้า


เขาวงกตแห่งรัตติกาลนี้เป็นภูมิทัศน์ทางธรณีวิทยาที่มีขนาดมหึมา พาดผ่านดาวอังคารด้วยความกว้างประมาณ 1,190 กิโลเมตร หรือเกือบเท่าความยาวของประเทศอิตาลี ตั้งอยู่ระหว่างลักษณะทางธรณีวิทยาที่สําคัญ 2 แห่ง นั่นคือ หุบเขาวอล์ส มาริเนอริส (Valles Marineris) หรือที่รู้จักกันในฐานะ "แกรนด์แคนยอน" ของดาวอังคาร และยังถือว่าเป็นหุบผาที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะเนื่องจากมีความยาวกว่า 4,000 กิโลเมตรด้วยกัน รวมถึงภูมิภาคธาร์ซิส (Tharsis) ซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟที่สูงที่สุดในระบบสุริยะจำนวนหลายลูก


วิวทิวทัศน์ที่สวยงามของหุบเขาและแคนยอนที่มีความซับซ้อนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ แต่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการทางธรณีวิทยาที่แสนยาวนานของดาวอังคาร โดย Noctis Labyrinthus เป็นพื้นที่ที่แผ่นเปลือกโลกของดาวอังคารมีการแตกหัก (Fracture zone) บริเวณตอนกลางของภูมิภาคธาร์ซิส ประกอบไปด้วยหุบเขาและแคนยอนที่มีความกว้างสูงสุดถึง 30 กิโลเมตรและลึกสูงสุด 6 กิโลเมตร ซึ่งโครงสร้างนี้เกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาในพื้นที่ดังกล่าวที่ก่อให้เกิดการกระทุ้งตัวหรือการยกตัวของผิวดาวอังคาร กระบวนการทางธรณีวิทยานี้ยังสื่อให้เห็นว่าเปลือกโลกของดาวอังคารเคยประสบกับแรงเค้น (Stress) และความเครียด (Strain) อย่างมาก


แรงเค้นทางธรณีวิทยาที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของผิวโลกยังทำให้เกิดหุบเขาทรุด (Graben) โดยหุบเขาทรุดบางแห่งในภูมิภาคนี้มีความลึกถึง 5,000 เมตร แสดงให้เห็นถึงพลังงานบริเวณพื้นผิวของดาวอังคารที่แข็งแกร่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาที่ผ่านมาของดาวเคราะห์ดวงนี้ นอกจากนี้ การวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าเคยพบการไหวของลาวา รวมถึงทะเลสาบใน Noctis Labyrinthus จนถึงยุคทางธรณีวิทยาล่าสุดอีกด้วย


ที่ผ่านมา ยานอวกาศมาร์สเอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นยานสำรวจดาวอังคารลำแรกของ ESA เป็นพลังสำคัญในการทําแผนที่และการสํารวจดาวเคราะห์แดงอย่างครอบคลุมมาตั้งแต่ปี 2003 โดยภารกิจต่าง ๆ รวมถึงการจับภาพพื้นผิวของดาวอังคาร การทําแผนที่องค์ประกอบของแร่ การตรวจสอบชั้นบรรยากาศ การตรวจสอบบริเวณใต้เปลือกโลกดาวอังคาร ซึ่งความพยายามนี้ก่อให้เกิดความเข้าใจและข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าด้านธรณีวิทยาของดาวอังคารมากขึ้น


ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com  

ที่มาของรูปภาพ esa.int  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง