BMตุนแบ็กล็อกรอบุ๊ค260ล. โค้งท้ายคำสั่งซื้อเข้าเพียบ
ทันหุ้น สู้โควิด – BM โชว์แบ็กล็อกรอส่งมอบผู้รับเหมา และบุ๊คเป็นรายได้ปีนี้ 260 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าหาออร์เดอร์เติมพอร์ต แย้มโค้งท้ายมีออร์เดอร์ไหลเข้ากว่า 70-80 ล้านบาท ด้านผู้บริหารเตรียมทำแผนงานปี 64 ส่วนปีนี้มั่นใจผลงานเข้าเป้า โต 20% จากปีก่อน 913.34 ล้านบาท ชี้ 6 เดือนแรกโกยรายได้แล้ว 423.56 ล้านบาท
นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด (มหาชน) หรือ BM เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมทำแผนงานปี 2564 โดยการพิจารณาแผนงาน จะมาจากคำสั่งซื้อ(ออเดอร์) จากลูกค้า ทั้งจากกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (Construction) และกลุ่ม B2B สำหรับกลุ่มรับเหมาก่อสร้างคาดทิศทางจะเห็นภาพดีขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ไปจนถึงปีหน้า ตามการขยายโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ
ตุนแบ็กล็อกแน่น
ขณะเดียวกันบริษัทมีงานในมือ(Backlog) อยู่ที่ประมาณ 260 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยส่งมอบและรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ และคาดจะมีคำสั่งซื้อ(ออเดอร์) เข้ามาเพิ่มเติม
สำหรับกลุ่ม B2B หรือการจำหน่ายเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้กับลูกค้ากลุ่มคูโบต้า แนวโน้มออเดอร์ช่วงปลายปีมีเพิ่มขึ้น ซึ่งปกติปลายปีจะไม่ใช่ช่วงการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีปริมาณมาก ขณะเดียวกันลูกค้าทางอเมริกา หรือการผลิต พร้อมกับจำหน่ายสินค้าประเภทแม่พิมพ์โลหะ ตู้โลหะ ยังมีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดย 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ มีออเดอร์เข้ามาทุกวัน หรือมีมูลค่างานที่ 70-80 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทต้องประเมินกำลังการผลิต และการรองรับการเติบโตในปี 2564
ผลงานเข้าเป้า
หากดูจากออเดอร์ที่มีเข้ามา บริษัทยังมีงานให้ทำอย่างต่อเนื่อง และคาดทิศทางการเติบโตจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ แต่จะมีทิศทางอย่างไร บริษัทขอดูแผนการลงทุนจากทุกแผนกว่าจะเป็นอย่างไร สำหรับทิศทางผลประกอบการปีนี้ บริษัทมั่นใจรายได้จะเติบโตได้ตามเป้าหมาย หรือเติบโต 20% จากปีก่อน 913.34 ล้านบาท โดย 6 เดือนแรกมีรายได้แล้ว 423.56 ล้านบาท
ส่วนผลประกอบการไตรมาส 2/2563 บริษัทขาดทุน 3.86 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เนื่องจากการขาดทุนดังกล่าวเป็นตัวเลขทางบัญชี จากการตั้งสำรองหนี้จากลูกหนี้เกือบ 10 ล้านบาท และบริษัทได้เจรจากับลูกหนี้แล้ว พร้อมกับจะปรับกลยุทธ์ในการขายสินค้าให้กัน เพื่อหาทางออกที่ดีให้กับทั้งสองฝ่าย
อีกทั้งบริษัทมีต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนสำหรับการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปอเมริกา แต่ต่อจากนี้จะไม่มีต้นทุนลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก เพราะบริษัทลงทุนครบแล้ว อนึ่ง 6 เดือนแรกบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7.43 ล้านบาท
นายธีรวัต กล่าวก่อนหน้านี้ว่า บริษัทปรับโมเดลการดำเนินธุรกิจไปสู่ New Normal เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับตัวและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยรับจ้างผลิตและขายสินค้าให้กับลูกค้า (OEM) และการออกแบบสินค้าให้กับลูกค้า (ODM) จากที่เดิมบริษัทผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์บริษัทเองและขายให้กับกลุ่มผู้รับเหมา แต่ที่ผ่านมากลุ่มผู้รับเหมาได้รับผลกระทบการดำเนินงาน จากกรอบควบคุมเวลา หรือเคอร์ฟิว ส่งผลให้บริษัทส่งมอบงานให้ลูกค้าล่าช้ากว่ากำหนด