รีเซต

นักวิทย์พบพลาสติกในหินกว่า 11 ประเทศ จาก 5 ทวีป ชี้เป็นหลักฐานการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์

นักวิทย์พบพลาสติกในหินกว่า 11 ประเทศ จาก 5 ทวีป ชี้เป็นหลักฐานการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์
TNN ช่อง16
5 มกราคม 2567 ( 08:14 )
37

พลาสติกเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของมนุษย์ที่มาพร้อมการก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลก แม้ว่าเราจะทราบกันดีว่าผลกระทบมีตั้งแต่การปนเปื้อนในแหล่งดิน ไปจนถึงรวมตัวเป็นแพขยะกลางทะเล แต่ล่าสุดนักวิจัยได้พบว่าหินตะกอน (Sedimentary rock) ที่ควรมีแต่ส่วนประกอบจากดินหรือทราย กลับกลายเป็นว่ามีพลาสติกแทรกอยู่ในนั้น และยังพบหินในลักษณะเดียวกันกว่า 11 ประเทศ จากทั้งหมด 5 ทวีปทั่วโลกอีกด้วย


ข้อมูลหินแบบใหม่ที่มีพลาสติกผสมในเนื้อหิน

หินแบบใหม่นี้มีชื่อว่า พลาสติสโตน (Plastistone) เป็นส่วนผสมระหว่างหินตะกอน (Sedimentary Basin) กับพลาสติกประเภทโพลีเอทีลีน (Polyethylene: PE) โพลีเอทีลีน เทเรปทาเลต หรือพลาสติกเพทที่นิยมใช้ทำขวดพลาสติก (PET: Polyethylene terephthalate), หรือโพลีโพรพีลีน (polypropylene: PP) หรือพลาสติกอื่น ๆ ที่หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของหินตามแนวรอยแตก (Clast) ของหินตะกอน


หินพลาสติสโตนค้นพบใน 11 จุด จากทั้งหมด 5 ทวีป เช่น หมู่เกาะฮาวายของสหรัฐอเมริกา, เปรู, อิตาลี, จีน, ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยการค้นพบเกิดขึ้นทั้งตามแนวชายฝั่ง และยังค้นพบหินพลาสติสโตนในพื้นที่บนบก และยังพบว่าหินพลาสติสโตนนั้นนอกจากจะมีแบบที่แทรกตามแนวรอยแตกแล้วยังเป็นแบบที่ก่อตัวเป็นหินแบบใหม่ผสมตั้งแต่แรกอีกด้วย


หินแบบใหม่ที่สะท้อนว่าพลาสติกจากมนุษย์มีผลต่อสิ่งแวดล้อม

นักวิจัยสาขาสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) ในประเทศจีนที่ศึกษางานในครั้งนี้ให้ข้อมูลว่า ปรากฏการณ์ที่หินกับพลาสติกรวมกันนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการที่พลาสติกซึ่งมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การทิ้งและการเผาขยะพลาสติก ไปจนถึงการฝังกลบ ผสมรวมกับปัจจัยตามธรรมชาติและกระบวนการเกิดหินตะกอนจนหลอมรวมเป็นหินตะกอนแบบใหม่ขึ้นมา


งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในไซแอนซ์ ไดเร็ก (Science Direct) วารสารวิชาการชื่อดังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผู้วิจัยชื่อว่าหินพลาสติกสโตนคือหลักฐานการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ที่มีผลต่อระบบธรณีวิทยาอย่างรุนแรง และยังเป็นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในการศึกษาร่องรอยทางธรณีของโลกด้วย


ที่มาข้อมูล Interesting Engineering

หมายเหตุ: ภาพปกข่าว (Thumbnail) เป็นการใช้ Generative AI จากโปรแกรม Adobe Photoshop ในการประกอบข่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง