รีเซต

งานวิจัยชี้ ! ค้างคาวรู้จักสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมมือกันหาอาหารได้เร็วขึ้น

งานวิจัยชี้ ! ค้างคาวรู้จักสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมมือกันหาอาหารได้เร็วขึ้น
TNN ช่อง16
11 สิงหาคม 2565 ( 10:47 )
199
งานวิจัยชี้ ! ค้างคาวรู้จักสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมมือกันหาอาหารได้เร็วขึ้น

เมื่อเรานึกถึงสัตว์ที่ทำงานร่วมกันเพื่อล่าเหยื่อ เราอาจจะนึกถึงกลุ่มสัตว์นักล่า เช่นหมาป่า หรือวาฬเพชฌฆาต แต่งานวิจัยล่าชุดชี้ว่า "ค้างคาว" ธรรมดา ๆ ก็อาจจะมีพฤติกรรมล่าเหยื่อเป็นกลุ่มแบบสัตว์นักล่าด้วยเช่นกัน หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าพวกมันสามารถแนะนำแหล่งอาหารอร่อยให้กันและกันได้ด้วย 


ภาพจาก Unsplash

 


เป็นที่ทราบกันดีว่า ค้างคาว สามารถระบุตำแหน่งของแมลงต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาหารของมัน ท่ามกลางสภาพที่มืดมิดได้ ผ่านการค้นหาตำแหน่งด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (echolocation) โดยมันจะปล่อยคลื่นคลื่นอัลตราโซนิก ที่จะกระทบกับร่างกายของแมลง และสะท้อนกลับไปที่ใบหูขนาดใหญ่ของค้างคาว ทำให้มันรู้ว่าเหยื่ออยู่ไกลแค่ไหนอยู่ในทิศทางใด


โดยข้อมูลจากทีมนักวิทยาศาสตร์ จาก University of Potsdam และสถาบัน  Leibniz Institute for Zoo and Wildlife Research ซึ่งเป็นผู้ร่วมทำวิจัยชิ้นนี้ พบว่า ระบบการล่าเหยื่อของค้างคาวจะสามารถระบุตำแหน่งของเหยื่อได้ ภายในระยะ 10-15 เมตร หากฝูงแมลงอยู่ไกลออกไป พวกมันก็จะไม่สามารถตรวจจับได้ อย่างไรก็ตาม พวกมันสามารถใช้คลื่นอัลตราโซนิกนี้สะท้อนกันและกันเองได้ไกลถึง 160 เมตร 


ภาพจาก Newatlas

 


นักวิจัยจึงต้องการค้นหาว่า ค้างคาวจะใช้ความสามารถนี้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร พวกเขาจึงติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณวิทยุขนาดเล็ก ไว้ที่ด้านหลังของค้างคาวกินแมลงนิ้วสั้น  (Nyctalus noctula) จำนวน 81 ตัว ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามรูปแบบการบินของค้าวคาวแต่ละตัวได้ภายในช่วงระยะเวลาสามปี


จากผลการติดตามพบว่า เมื่อพวกมันจะออกล่าเหยื่อ ค้างคาวกลุ่มใหญ่บินออกไปไกลมากพอที่จะครอบคลุมพื้นที่ให้กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาตำแหน่งเสียงสะท้อนของกันและกัน หากค้างคาวตัวใดตัวหนึ่งเจอเหยื่อและเริ่มออกล่า ค้างคาวที่อยู่ใกล้กันจะรับรู้ได้จากการเปลี่ยนแปลงของคลื่นเสียงสะท้อน และจะมุ่งมาหาเหยื่อในที่เดียวกัน


ภาพจาก Unsplash

 


เพื่อศึกษาให้ลึกลงไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ยังได้ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์คำนวณการสร้างเครือข่ายฝูงล่าของค้างคาว และพบว่าด้วยวิธีการนี้ ค้างคาวจะเสียเวลาน้อยกว่า 40% ในการค้นหาเหยื่อ เมื่อเทียบกับการออกล่าโดยไม่สนใจฝูง 


นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องปกป้องที่พักของชุมชนที่มีค้างคาวจำนวนมากอาศัยอยู่ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตอาจไม่สามารถหาอาหารได้เพียงพอหากอาศัยอยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ หรือต้องอยู่ลำพังด้วยตนเอง


สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัย Proceedings of the National Academy of Sciences 


ขอบคุณข้อมูลจาก

newatlas

izw-berlin

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง