ยุโรปเฝ้าระวัง "โควิดสายพันธุ์มิว" หลบภูมิคุ้มกันได้สูง หวั่นแทนที่ "เดลต้า"
วันนี้ (10 ก.ย.64) สำนักงานยายุโรป หรือ อีเอ็มเอ แถลงว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “มิว” (Mu) อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความวิตกกังวล แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า ไวรัสตัวนี้จะระบาดมากกว่า สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งกำลังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในยุโรปก็ตาม
โดยโควิดสายพันธุ์มิว ซึ่งถูกพบครั้งแรกในประเทศ "โคลอมเบีย" เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “B.1.621” และถูกจัดอันดับให้เป็นไวรัส “สายพันธุ์ที่น่าจับตามอง” (variant of interest) โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO
ด้าน มาร์โก คาวาเลรี ประธานด้านยุทธศาสตร์วัคซีนของสำนักงานยายุโรป แถลงข่าวว่า นอกเหนือจากการให้ความสำคัญในการควบคุมไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่เชื้อง่ายและรวดเร็วเป็นหลักแล้ว ยังต้องจับตาไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ที่อาจกำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ด้วย เช่น สายพันธุ์แลมบ์ดา ซึ่งพบครั้งแรกในเปรู และสายพันธุ์มิว ที่เริ่มพบการระบาดมากขึ้น โดยโควิดสายพันธุ์มิว มีแนวโน้มที่จะสร้างความวิตกกังวลมากขึ้น เนื่องจากมีศักยภาพในการหลบภูมิคุ้มกันที่เพิ่มสูงได้
สำนักงานยายุโรป ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ ที่ดูแลเรื่องการแพทย์สำหรับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ จะหารือกับบรรดาผู้พัฒนาวัคซีนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในปัจจุบัน เพื่อรับมือกับไวรัสสายพันธุ์มิว รวมทั้งไวรัส SARS-CoV-2 ที่สามารถกลายพันธุ์ได้ตลอด
แต่การกลายพันธุ์ส่วนใหญ่มีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่บางชนิดอาจส่งผลต่อคุณสมบัติของไวรัส ซึ่งรวมถึงแพร่เชื้อง่าย ทำให้มีอาการป่วยรุนแรงขึ้น และต้านทานวัคซีน หรือดื้อยา
ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกจัดอันดับไวรัสโควิด-19 หลายสายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง ซึ่งรวมทั้งสายพันธุ์ “อัลฟ่า” ที่พบระบาดอยู่ใน 193 ประเทศ และสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งระบาดใน 170 ประเทศ