รีเซต

บรรยากาศโลกส่วนบนชั้นสตราโตสเฟียร์ บางลง 400 เมตร เหตุเพราะก๊าซเรือนกระจก

บรรยากาศโลกส่วนบนชั้นสตราโตสเฟียร์ บางลง 400 เมตร เหตุเพราะก๊าซเรือนกระจก
ข่าวสด
16 พฤษภาคม 2564 ( 21:19 )
397

ผลการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายชาติในยุโรปและสหรัฐฯ ชี้ว่า บรรยากาศโลกชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ซึ่งอยู่ที่ระดับความสูง 20-60 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก กำลังหดตัวบางลงอย่างน่าเป็นห่วง

 

การวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมพบว่า นับแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ความหนาของชั้นบรรยากาศนี้ลดลงไปแล้วถึง 400 เมตร และอาจจะบางลงได้อีก 1 กิโลเมตร ภายในปี 2080 หากมนุษย์ไม่ตัดลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง

 

 

การที่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์บางลง นอกจากจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศโลกแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในด้านเทคโนโลยีสื่อสารและโทรคมนาคมอีกด้วย โดยสัญญาณดาวเทียม คลื่นวิทยุ ระบบนำร่องจีพีเอส อาจถูกรบกวนและทำงานผิดปกติได้ เนื่องจากคลื่นสัญญาณเหล่านี้เดินทางในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์

 

 


กระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขณะทะยานอยู่ระหว่างบรรยากาศโลกชั้นเมโซสเฟียร์ (สีฟ้า) กับสตราโตสเฟียร์ (สีขาว)

 

 

รายงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research Letters ระบุว่า เมื่อมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์มากขึ้น มันจะทำให้อากาศที่ระดับความสูงดังกล่าวเย็นตัวลงยิ่งกว่าเดิม ส่งผลให้บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์หดตัว โดยมีการขยายตัวของอากาศร้อนในบรรยากาศชั้นล่างหรือโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งอยู่ติดกัน ดันให้ขอบเขตของสตราโตสเฟียร์หดแคบลงไปอีก

 

 


ภาพจากบอลลูนตรวจอากาศเผยให้เห็นชั้นบรรยากาศส่วนบนของโลก

 

 

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยตั้งข้อสงสัยมานานแล้วว่า ก๊าซเรือนกระจกอาจเป็นตัวการที่ทำให้บรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ขยายตัว และทำให้ชั้นสตราโตสเฟียร์หดตัว แต่ผลการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติในครั้งนี้ ได้แสดงหลักฐานที่ยืนยันความถูกต้องของแนวคิดดังกล่าวเป็นครั้งแรก

 

 

สำหรับการบางตัวลงและเกิดรูโหว่ในชั้นโอโซน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ด้วยนั้น ไม่ถือเป็นสาเหตุของการหดตัวเกือบครึ่งกิโลเมตรที่ตรวจพบในครั้งนี้ เนื่องจากชั้นโอโซนส่วนใหญ่ได้กลับฟื้นคืนสภาพ หลังมีการห้ามใช้สารซีเอฟซีตั้งแต่ปี 1989 จนรูโหว่บางส่วนปิดลงแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง