รีเซต

เครื่องยนต์เครื่องบินความเร็วเหนือเสียง Overture ได้ไปต่อด้วยไตรภาคีใหม่

เครื่องยนต์เครื่องบินความเร็วเหนือเสียง Overture ได้ไปต่อด้วยไตรภาคีใหม่
TNN ช่อง16
17 ธันวาคม 2565 ( 15:48 )
110

บูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) ได้ประกาศสร้างเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงโอเวอร์เชอร์ (Overture) ที่ใช้เครื่องยนต์แบบใหม่ซึ่งใช้เชื้อเพลิงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable Aviation Fuel: SAF) แต่ได้ความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ก็คือโรลส์-รอยซ์ (Roll-Royce) พันธมิตรหลักที่จะสร้างเครื่องยนต์ให้กลับถอนตัวกระทันหัน จนท้ายที่สุดบริษัทก็สร้างพันธมิตรรายใหม่ 3 บริษัท และประกาศการร่วมมือกันในครั้งนี้อย่างเป็นทางการ



ไตรภาคีซิมโฟนี (Symphony) พันธมิตรที่รวมตัวในหลายด้าน


บูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) ตั้งทีมใหม่ที่ประกอบไปด้วย 3 บริษัท ได้แก่


  1. บริษัทฟลอริดา เทอร์ไบน์ เทคโนโลยี (Florida Turbine Technologies: FTT) ที่เป็นบริษัทลูกของคราโทส (Kratos) ผู้ชนะการประมูลของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในการผลิตเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน (Turbofan Engine) ต้นทุนต่ำมูลค่า 1,900 ล้านบาท มาเป็นผู้ออกแบบวิศวกรรมเครื่องยนต์
  2. บริษัท จีอี แอดดิทีฟ (GE Additive) หนึ่งในบริษัทลูกของจีอี (GE) มาดูแลการออกแบบระบบการพิมพ์ 3 มิติ สำหรับตัวเครื่องยนต์ 
  3. บริษัท สแตนดาร์ด เอโร (StandardAero) ให้มารับผิดชอบในด้านการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ใหม่ที่จะผลิตขึ้นมา


โดยเครื่องยนต์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการผนึกกำลังกันในครั้งนี้มีชื่อว่า ซิมโฟนี (Symphony) สำหรับใช้กับเครื่องบินของบูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) ที่ขาดความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องยนต์ด้วยตัวเอง 



คุณสมบัติของเครื่องยนต์ซิมโฟนี (Symphony)


ซิมโฟนี (Symphony) เป็นเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนแบบบายพาสปานกลาง (Medium-Bypass Turbofan Engine) เครื่องยนต์ลักษณะนี้เป็นเครื่องยนต์เดียวกันกับที่ใช้ประกอบเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว มีนิยามทางเทคนิคว่าอากาศที่ใช้ขับดันเครื่องบินซึ่งพุ่งออกมาจากท้ายเครื่องยนต์นั้นจะมีอัตราส่วนเทียบกับอากาศที่พัดลมดูดเข้าไปมากกว่า 2 เท่า เพื่อให้เครื่องบินสามารถทำความเร็วเหนือเสียงได้นั่นเอง


บูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) ระบุว่าเครื่องยนต์ซิมโฟนี (Symphony) จะมีแรงขับดัน (Thrust) อยู่ที่ 35,000 ปอนด์ หรือประมาณ 15,900 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถทำความเร็วสูงสุดที่ 1.7 มัค หรือประมาณ 2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมกับกำหนดให้เครื่องยนต์นั้นใช้เชื้อเพลิงอากาศยานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (SAF) 




ในขณะที่ส่วนตัวเครื่องยนต์จะผลิตด้วยวัสดุน้ำหนักเบาแบบขึ้นรูป ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ราว ๆ 10% เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงทั่ว ๆ ไป โดยคาดว่าเครื่องยนต์นี้จะเข้าสู่สายพานการผลิตในปี 2024 ช่วงเวลาเดียวกันดับที่เครื่องบินเจ็ทความเร็วเหนือเสียงโอเวอร์เชอร์ (Overture) จะเริ่มการผลิต เพื่อให้ทันกำหนดการทดสอบบินครั้งแรกในปี 2027 ก่อนที่จะยื่นจดทะเบียนการบินในปี 2029 ต่อไป





ที่มาข้อมูล Interesting Engineering 

ที่มารูปภาพ Boom Supersonic

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง