รีเซต

คนทั่วโลกจะตายจาก “ดื้อยา” สูงถึง 39 ล้านคนในปี 2050 เหตุใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

คนทั่วโลกจะตายจาก “ดื้อยา” สูงถึง 39 ล้านคนในปี 2050 เหตุใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ
TNN ช่อง16
18 กันยายน 2567 ( 14:35 )
18
คนทั่วโลกจะตายจาก “ดื้อยา” สูงถึง 39 ล้านคนในปี 2050 เหตุใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

ปัจจุบัน วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์พยายามหาทางป้องกันและหาวิธีรักษา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้คน แต่ก็ยังไร้ยารักษากลุ่มใหม่ จนล่าสุด ผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า ทั่วโลกจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากการติดเชื้อดื้อยาสูงเกือบ 40 ล้านคนภายในปี 2050 


---39 ล้านคนทั่วโลก จะตายจากเชื้อดื้อยา---


ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ผ่านวารสาร Lancet เมื่อวันจันทร์ (16 กันยายน) ที่ผ่านมา เผยว่า ตั้งแต่ปี 2025-2050 โลกจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากการติดเชื้อดื้อยาโดยตรงสูงถึง 39 ล้านคน และยังคาดการณ์อีกว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้คนกว่า 169 ล้านคนทั่วโลก จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาทางอ้อม


การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ เกิดจากเชื้อโรค อย่าง แบคทีเรีย หรือ เชื้อรา พัฒนาตัวเองให้สามารถหลีกเลี่ยงยารักษาโรคต่าง ๆ ที่ฆ่าพวกมันได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ พวกมันปรับตัวให้อยู่กับยารักษาโรคเหล่านี้ได้ 


องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เผยว่า การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นหนึ่งในภัยคุกคามด้านสาธารณสุขและการพัฒนาอันดับต้น ๆ ของโลก เป็นผลที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะในทางที่ผิดและมากเกินไปในมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณต่าง ๆ เช่น การทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เมื่อป่วยเป็นโรคธรรมดา อย่าง ไข้หวัดทั่วไป จนทำให้เชื้อโรคเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาให้ตนเองมีความต้านทานฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะเหล่านี้ 


นอกจากนี้ การไปหาซื้อยาปฏิชีวนะทานเอง หรือ ทานไม่ครบจำนวนโดสตามที่หมอสั่งก็เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเกิดการดื้อยาได้ รวมถึงบุคคลที่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน แล้วจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ 


ดร.คริส เมอร์เรย์ ผอ.สถาบันเมตริกและการประเมินผลด้านสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน หนึ่งในผู้เขียนวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่า โลกต้องให้ความสนใจไปที่ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ และการดูแลการใช้งานยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม เพื่อสามารถจัดการกับสิ่งที่เป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่ได้ 


ทั้งนี้ ทีมวิจัย พบว่า ตั้งแต่ปี 1990-2021 จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากการติดเชื้อดื้อยาในแต่ละปี มีมากกว่า 1 ล้านคน


---ผู้สูงอายุเสี่ยงติดเชื้อดื้อยา มากกว่า 80%---


ผลการศึกษาฉบับนี้ จัดทำโดย Global Research on Antimicrobial Resistance หรือ GRAM พวกเขาได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่บันทึกถึงการเสียชีวิตที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อดื้อยาในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อทำการวิเคราะห์และทำนายตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในอนาคต 


จากข้อมูลที่พวกเขารวบรวมมา พบว่า ปี 1990-2021 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาในกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลงถึง 50% แต่กลับเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป มากกว่า 80% 


แนวโน้มดังกล่าว คาดว่า จะยังคงดำเนินต่อไป โดยอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะลดลงอีกครึ่งหนึ่งในปี 2050 ขณะที่ กลุ่มผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปีเดียวกัน 


สาเหตุที่อัตราการเสียชีวิตในเด็กลดลง เป็นผลมาจากโครงการวัคซีนที่ประสบความสำเร็จ, การปรับปรุงคุณภาพน้ำและสุขอนามัย รวมถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ส่วนสาเหตุที่อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้มีความเปราะบางที่จะติดเชื้อรุนแรง จนนำไปสู่การเสียชีวิตที่มีการติดเชื้อดื้อยา เข้ามาเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง


ทีมวิจัย เผยด้วยว่า อัตราการเสียชีวิตจากการดื้อยาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต หากโลกยังไม่มีมาตรการที่เหมาะสม เพื่อรับมือวิกฤตนี้ 


---“ติดเชื้อดื้อยา” ภัยคุกคามระดับโลก---


ทีมวิจัยประมาณการไว้ว่า ภายในปี 2050 จะมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาโดยตรงสูงแตะถึง 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบการปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 1.14 ล้านคน นอกจากนี้ ยังประเมินว่า ประชาชนทั่วโลกจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาโดยทางอ้อมสูงถึง 8.22 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นเกือบ 75% เมื่อเทียบกับปี 2021 อยู่ที่ 4.71 ล้านคน 


ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตมากสุด ได้แก่ เอเชียใต้, ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และแอฟริกาใต้สะฮารา เนื่องจากหลายภูมิภาคเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน


“การค้นพบเหล่านี้ เน้นย้ำว่า การติดเชื้อดื้อยาเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขระดับโลกอย่างมีนัยสำคัญมาเป็นเวลาหลายสิบปี และภัยคุกคามนี้ กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ” โมห์เซน นากาวี ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และเป็นหนึ่งในผู้เขียนวิจัย กล่าว 


“การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงเวลาที่ผ่านมา และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะให้ข้อมูลในการตัดสินใจ เพื่อช่วยชีวิตผู้คน” เขา กล่าว 


---คนไทยนับหมื่นตายจาก “ติดเชื้อดื้อยา” ทุกปี---


สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย พบผู้เสียชีวิตจากอาการนี้เฉลี่ยราว 38,000 คนต่อปี ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณปีละ 40,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการใช้ยาปฏิชีวินะพร่ำเพรื่อเกินไป 


ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ชี้ให้เห็นว่า ไทยนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะสูงสุด เมื่อเทียบกับยารักษาโรคกลุ่มอื่น ๆ มาตั้งแต่ปี 2000 โดยปี 2009 การผลิตและนำเข้ายาปฏิชีวนะมีมูลค่าสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่ายารักษาโรคหัวใจ, โรคระบบประสาทส่วนกลาง และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ยังพบการใช้ยาปฏิชีวนะแบบไม่เหมาะสมในทุกระดับของสถานพยาบาล 


อย่างไรก็ตาม ไทยได้จัดทำแผนการจัดการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ หวังลดจำนวนผู้เสียชีวิตและการติดเชื้อจากการดื้อยา โดยผลการดำเนินการในช่วงปี 2017-2021 ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดใช้ยาต้านจุลชีพในมนุษย์ 24.8% และในสัตว์ 36% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 20% และ 30% ตามลำดับ ขณะที่ สมรรถนะของประเทศในการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพผ่านเกณฑ์การประเมินของ WHO 


หลังจากบรรลุเป้าหมายจากแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ ฉบับปี 2017-2021 แล้ว ไทยก็เริ่มเดินหน้าแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ปี 2023-2027 ต่อ โดยมุ่งหวังดำเนินการแผนต่อเนื่องจากฉบับแรก เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการดื้อยาภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน และจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาได้อย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://edition.cnn.com/2024/09/16/health/antibiotic-resistant-superbug-infections-2050-wellness/index.html

https://www.politico.eu/article/amr-death-superbugs-40-million-2050-study-antibiotic/

https://www.thaidrugwatch.org/download/series/53/series53-19.pdf

https://www.thaihealth.or.th/%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%AA-%E0%B8%AA%E0%B8%98-%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/

https://rr-asia.woah.org/app/uploads/2020/03/thailand_thailands-national-strategic-plan-on-amr-2017-2021.pdf

https://diversey.co.th/th/drug-resistant-bacteria

ข่าวที่เกี่ยวข้อง