รีเซต

สายดื่มบอก "ยังไม่มาว" ไม่ได้แล้วนะ เพราะต่อไปโทรศัพท์จะบอกเองว่าเมาแค่ไหน

สายดื่มบอก "ยังไม่มาว" ไม่ได้แล้วนะ เพราะต่อไปโทรศัพท์จะบอกเองว่าเมาแค่ไหน
TNN ช่อง16
14 พฤศจิกายน 2566 ( 02:06 )
78
สายดื่มบอก "ยังไม่มาว" ไม่ได้แล้วนะ เพราะต่อไปโทรศัพท์จะบอกเองว่าเมาแค่ไหน

หลายคนน่าจะเคยออกไปสังสรรค์กับเพื่อนจนระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูง แต่พอเพื่อนถามกลับบอกว่า “ยังไม่มาว” แต่เสียงนั่นลากยาน เดินก็ตุปัดตุเป๋ ซึ่งนั่นก็อาจจะนำไปสู่อุบัติเหตุเมาแล้วขับจนเกิดการสูญเสียอย่างรุนแรงได้ แต่รู้หรือไม่ว่าต่อไปนี้เพื่อนอาจจะไม่ต้องถามแล้ว เพราะให้โทรศัพท์จะกลายเป็นเครื่องมือบอกแทนว่าใครเมาหรือเปล่า รวมถึงสามารถเข้าไปแทรกแซงเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บได้ งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อวันที่ 8 พฤษจิกายนที่ผ่านมาในวารสารเกี่ยวกับแอลกอฮอล์และยา (Journal of Studies on Alcohol and Drugs) 


งานวิจัยดังกล่าวเกิดจากการที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยโตรอนโต ได้พัฒนาเซ็นเซอร์และลำโพงอัจฉริยะในสมาร์ตโฟน เพื่อให้สามารถบอกได้ว่าผู้ใช้เมาแค่ไหน เมื่อเราเมา มักเสียงจะมีการเปลี่ยนแปลงไป นักวิจัยได้นำเสียงเหล่านี้ไปทำการทดลองและพบว่าเทคโนโลยีที่พัฒนานี้สามารถบอกอาการมึนเมาได้แม่นยำถึง 98% 


งานวิจัยนี้ได้ศึกษาผู้เข้าร่วม 18 คน ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ก่อนเข้าร่วมจะถูกสุ่มให้พูดบทบิดลิ้น (Tongue Twister หรือก็คือบทพูดที่ออกเสียงยาก ๆ และทำให้ลิ้นพันกัน เช่น ยายกินลำไยน้ำลายยายไหลย้อย) หลังจากนั้นจะให้ดื่มแอลกอฮอล์ตามสัดส่วนที่สัมพันธ์กับน้ำหนักตัวของผู้เข้าร่วม หลังจากเวลาผ่านไปทุก ๆ 1 ชั่วโมงก็จะให้พูดบทบิดลิ้นอีก สลับกับการให้แอลกอฮอล์เป็นเวลาทั้งหมด 7 ชั่วโมง เมื่อพูดบทบิดลิ้น ผู้เข้าร่วมจะต้องบันทึกเสียงของตนเองลงบนสมาร์ตโฟนที่อยู่ห่างจากพวกเขาประมาณ 30 - 60 เซนติเมตร 


นอกจากเสียงพูดบทบิดลิ้นแล้ว ยังมีการวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ผ่านเสียงลมหายใจด้วย โดยจะบันทึกก่อนการทดลอง และทุก ๆ 30 นาทีจนครบ 7 ชั่วโมง


นายแพทย์ไบรอัน ซัฟโฟเล็ตโต (Brian Suffoletto) หัวหน้าทีมวิจัย รองศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดบอกว่า “ความแม่นยำของแบบจำลองทำให้ผมประหลาดใจ จริงอยู่ที่เราไม่ใช่ผู้ริเริ่มศึกษาว่าลักษณะการพูดจะเปลี่ยนแปลงไปหลังมึนเมาจากแอลกอฮอล์ แต่เราได้ประยุกต์ความก้าวหน้าที่ล้ำสมัยในการประมวลผลสัญญาณ การวิเคราะห์เสียง และการเรียนรู้ของเครื่องจักร จนทำให้สามารถประเมินผลลัพธ์ที่แม่นยำ”


จุดประสงค์ของการศึกษานี้คือเพื่อประเมินอาการมึนเมาและเข้าไปแทรกแซงก่อนที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บอื่น ๆ ได้ ประยุกต์เข้ากับสมาร์ตโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีผู้ใช้งานอย่างมากและง่ายดายต่อการหยิบจับมาใช้


อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นอย่างมาก แต่ซัฟโฟเล็ตโตก็ยืนยันว่าการใช้เสียงเพื่อประเมินอาการมึนเมานั้นมีความน่าเชื่อถือ แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมจากกลุ่มทดลองหลากหลายเชื้อชาติ 


ทั้งนี้ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่าใน 1 ปีมีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากอุบัติเหตุที่เป็นผลมาจากการมึนเมาประมาณ 3 ล้านรายต่อปี ซึ่งคิดเป็น 5.3% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ดังนั้นเทคโนโลยีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก เพราะหากมันประสบความสำเร็จและถูกนำมาใช้ และน่าจะช่วยลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ รวมการกระทำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการเมาได้


ที่มาข้อมูล Interestingengineering, JSAD

ที่มารูปภาพ Freepix

ข่าวที่เกี่ยวข้อง