รีเซต

โจ ไบเดน ลงดาบขึ้นบัญชีดำ 59 บริษัทจีน

โจ ไบเดน ลงดาบขึ้นบัญชีดำ 59 บริษัทจีน
TNN World
4 มิถุนายน 2564 ( 19:58 )
293

 

ข่าววันนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ สั่งขึ้นบัญชีดำ 59 บริษัทจีน ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพจีนหรืออยู่ในภาคเทคโนโลยีสอดแนม รวมถึง Huawei ด้วย โดยห้ามนักลงทุนชาวอเมริกันไปลงทุนในบริษัทดังกล่าว ถือเป็นการสานต่อสิ่งที่ทำมาตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 


ไบเดนห้ามลงทุนในบริษัทจีน 59 แห่ง


ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ห้ามองค์กรของสหรัฐฯ เข้าลงทุนในบริษัทของจีนทั้งหมด 59 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพจีนหรืออยู่ในภาคเทคโนโลยีการทหารและการสอดแนม  


คำสั่งแบนการลงทุนในบริษัทจีนล่าสุดของไบเดน เป็นการต่อยอดนโยบายเดียวกัน ที่เริ่มขึ้นในยุคอดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ขึ้นบัญชีดำห้ามสหรัฐฯ เข้าลงทุนในบริษัทจีน 31 แห่ง ส่วนคำสั่งของไบเดนล่าสุดนี้ เพิ่มจำนวนบริษัทจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำเป็น 59 แห่ง เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากยุคทรัมป์


บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่ติดร่างแหในครั้งนี้ รวมถึง Huawei ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน, บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างประเทศ หรือ SMIC ซึ่งเป็นบริษัทหัวหอกที่ผลักดันการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิปแห่งชาติของจีน, บริษัทอุตสาหกรรมการบินจีน หรือ AVIC, บริษัทผลิตน้ำมันนอกชายฝั่งแห่งชาติจีน หรือ CNOOC และบริษัท Hikvision ผู้พัฒนากล้องวงจรปิดและเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า ซึ่งมีส่วนช่วยให้ทางการจีนเปิดตัวโครงการ "เมืองปลอดภัย" ในเขตปกครองตนเองซินเจียง อุยกูร์ ด้วย 

 


ให้เวลานักลงทุนขายหุ้นจีนทิ้งภายใน 1 ปี


รายละเอียดคำสั่งของประธานาธิบดีไบเดนคือ ห้ามองค์กรและนักลงทุนในสหรัฐฯ เข้าลงทุนซื้อ หรือ ขาย หลักทรัพย์ต่าง ๆ ของบริษัทจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำ ที่นำออกขายต่อสาธารณะ, ห้ามสนับสนุนบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมทางทหาร, ห้ามสนับสนุนโครงการพัฒนาและวิจัยทางทหาร ข่าวกรอง และความมั่นคงของจีน รวมไปถึงห้ามสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสอดแนมของจีน 


ภายใต้คำสั่งของไบเดน จะห้ามการลงทุนในบริษัทเครือที่อยู่ในรายชื่อของ OFAC หรือ สำนักควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศเท่านั้น แต่จะไม่มีผลบังคับใช้กับบริษัทที่มีชื่อใกล้เคียงกับบริษัทที่ถูกขึ้นแบล็คลิสต์เหมือนที่ผ่านมาในยุคของทรัมป์


ทำเนียบขาว ระบุว่า คำสั่งแบนการลงทุนในบริษัทจีนดังกล่าว จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมนี้ ในเวลา 00.01 น. ตามเวลาในนิวยอร์ก หรือตรงกับเวลา 13.01 น.ในประเทศไทย


ส่วนนักลงทุนในสหรัฐฯ ที่ถือหลักทรัพย์ของบริษัทจีนอยู่แล้ว จะต้องขายทิ้งหุ้นและตราสารหนี้ที่ลงทุนในบริษัทจีนที่ถูกแบนเหล่านั้น โดยให้เวลา 1 ปี

 



 มอบอำนาจแบนจีนในหลายอุตสาหกรรม


คำสั่งฉบับนี้ไม่ใช่แค่การเพิ่มจำนวนบริษัทจีนที่ถูกแบนเท่านั้น แต่ยังให้อำนาจการแบนบริษัทไปยังกระทรวงการคลังด้วย ทำให้สหรัฐฯ สามารถแบนบริษัทจีนได้กว้างขวางขึ้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องทางการทหารโดยตรงเท่านั้น


เควิน โวล์ฟ  อดีตที่ปรึกษาอวุโสด้านการค้าระบุว่า “กระทรวงการคลังมีอำนาจตามกฎหมายที่จะแบนบริษัทหลายๆ บริษัทที่กระทรวงกลาโหมไม่มีอำนาจที่จะทำได้”


มีรายงานว่า กระทรวงการคลังจะเปิดเผยบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนในวันนี้ และจะอัพเดทข้อมูลอย่างต่อเนื่อง  

 

 

 บริษัทจีนโต้กลับ ชนะคดีมาแล้ว


การแก้ไขคำสั่งของทรัมป์มีขึ้นหลังจากบริษัทจีน 2 แห่งประสบความสำเร็จในการท้าทายคำสั่งดังกล่าวในศาลสหรัฐฯ  ทีมของไบเดนระบุว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพื่อให้แน่ใจว่าถูกต้องตามกฎหมายและยั่งยืนในระยะยาว
ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางได้ระงับคำสั่งขึ้นบัญชีดำ ห้ามการลงทุนในบริษัท Xiaomi บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน โดยชี้ว่า มีข้อบกพร่องอย่างมาก


ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งแบน Xiaomi ในวันสุดท้ายที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนไม่สามารถลงทุนใด ๆ เกี่ยวกับ Xiaomi ได้ โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้


แต่ Xiaomi ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับกองทัพจีน โดยยื่นคัดค้านประกาศของกระทรวงกลาโหม โดยแย้งว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ 


หลังจากพิจารณาพยานหลักฐานแล้ว ศาลได้มีคำพิพากษาให้ Xiaomi ชนะคดี โดยให้เหตุผลว่าการแบนครั้งนี้เป็นการออกคำสั่งตามอำเภอใจ และคำสั่งที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประกาศออกมา เป็นการขัดต่อสิทธิที่เสียวหมี่พึงได้รับทางกฎหมาย

 

 


 ปฏิกิริยาของฝ่ายต่าง ๆ


หลายบริษัทที่ถูกแบน เช่น Huawei ยังไม่ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่ China Telecom ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใด ๆ 


New York Times มองว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้การต่อสู้ทางการค้าและอุดมการณ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น ซึ่งนายไบเดนเรียกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่าง "ระบอบเผด็จการและประชาธิปไตย"


จุดยืนของไบเดนที่มีต่อคำสั่งนี้ ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากภาคธุรกิจและสภาคองเกรส ซึ่งสมาชิกทั้งสองพรรคได้เรียกร้องให้มีมาตรการเข้มงวดต่อจีนตั้งแต่เรื่องการค้าไปจนถึงสิทธิมนุษยชน


New York Times รายงานว่า คำสั่งเหล่านี้มีขึ้นในช่วงที่ทั้งจีนกำลังเพิ่มความสามารถในการสอดแนมผู้คนเกือบ 1,400 ล้านคน โดยใช้กล้องและซอฟต์แวร์จดจำใบหน้า สแกนเนอร์โทรศัพท์ และเครื่องมืออื่น ๆ ที่หลากหลาย ด้วยการส่งออกเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจอุปกรณ์สื่อสารที่บริษัทต่าง ๆ อย่าง Huawei จัดหาให้ หรือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขยายความสัมพันธ์ทางการค้าของประเทศ


รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างว่าจีนใช้เทคโนโลยีการสอดดูแลส่องกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ชาวอุยกูร์ และผู้ไม่เห็นด้วยในฮ่องกง รวมทั้งชาวจีนพลัดถิ่นทั่วโลก

 

 


สหรัฐฯ สู่บทบาทผู้พิทักษ์โลก


ที่ปรึกษาของไบเดนระบุว่า  ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะไม่ช่วยอำนวยความสะดวก ในการปราบปรามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน


จีนประณามการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น การแทรกแซงกิจการภายในประเทศของตนเป็นประจำ ก่อนหน้านี้จีนพยายามตอบโต้ด้วยการแบนบริษัทสัญชาติอเมริกัน ทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดการแตกแยกทางเศรษฐกิจในวงกว้างระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก 


ขณะที่ชาวจีนก็โต้แย้งว่าสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ใช้เทคโนโลยีและเทคนิคเดียวกันนี้ในการติดตามผู้ก่อการร้ายและผู้ค้ายาเสพติดเช่นกัน


ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คำสั่งนี้จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนในการยับยั้งเทคโนโลยีสอดแนมของจีน เพื่อให้คำสั่งห้ามการลงทุนมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เพราะไบเดนต้องโน้มน้าวให้พันธมิตรยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เข้าร่วมในความพยายามครั้งนี้ด้วย

 

 

เดินหน้าหาพันธมิตรแบนจีนใน G7


คาดว่า การชักชวนชาติพันธมิตรมาเข้าร่วม น่าจะเริ่มสัปดาห์หน้า หลังจากไบเดินทางไปเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกในฐานะประธานกลุ่ม G7 ตามมาด้วยการประชุมพันธมิตรนาโต ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับจีนน่าจะเป็นหัวข้อหลักในการประชุม  


แต่คาดว่าอาจจะต้องรับมือกับการต่อต้านจากเยอรมนีและเกาหลีใต้ที่ต้องพึ่งพาจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้ารถหรู ซอฟต์แวร์และอิเลกทรอนิกส์


อิริค เซเยอร์ส ผู้เชี่ยวชาญจาก American Enterprise Institute สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯ มองว่า ความเคลื่อนไหวของไบเดนครั้งนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนยังคงแข็งกร้าวไม่ต่างไปจากยุคทรัมป์  


นอกจากจะแบนบริษัทจีนเพิ่มแล้ว สหรัฐก็ยังไม่ได้ยกเลิกกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่ทรัมป์ตั้งไว้ และนโยบายไบเดนจะมาในรูปแบบที่เพิ่มความเข้มงวดและขยายขอบเขตการบังคับมากขึ้น

 

เรื่อง : สุภาพร เอ็ลเดรจ

 

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง