รีเซต

จีนเปิดทำงานฟาร์มกังหันลมบนที่สูงพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในโลก

จีนเปิดทำงานฟาร์มกังหันลมบนที่สูงพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในโลก
TNN ช่อง16
5 มกราคม 2567 ( 12:21 )
118

จีนเปิดทำงานโปรเจกต์ฟาร์มกังหันลมบนพื้นที่สูงพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงมากกว่า 80% ภายในปี 2060 โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งกลยุทธ์ของจีนในการที่จะผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ฟาร์มกังหันลมนี้ประกอบด้วยกังหันลม 25 ตัว ครอบคลุมพื้นที่ 140,000 ตารางเมตร และมีกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในเมืองนาคคู (Nagqu) ในเขตปกครองตนเองซีชาง (Xizang) ที่ระดับความสูง 4,650 เมตร ทั้งนี้จากข้อมูลของบริษัทพลังงานสัญชาติจีนอย่าง ไชน่า เอเนอจี อินเวสเมนต์ คอร์ปอเรชัน (China Energy Investment Corporation) ชี้ว่าฟาร์มกังหันลมที่สร้างขึ้นบนที่สูง 3,500 - 5,500 เมตร ในลักษณะนี้ จัดเป็นโครงการที่มีระดับความสูงเป็นพิเศษ ใช้เวลาสร้างประมาณ 260 วัน ด้วยงบประมาณ 640 ล้านหยวนหรือประมาณ 3,160 ล้านบาท และไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดคุณสมบัติของกังหันลมที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า 


โปรเจกต์นี้คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 200 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานประจำปีของผู้อยู่อาศัยในเมืองนาคคูจำนวน 230,000 คน โดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเลย ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 160,000 ตัน


แต่ทั้งนี้ การจัดตั้งฟาร์มกังหันลมบนพื้นที่สูงพิเศษนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาบางอย่าง เช่น ประสิทธิภาพการแปลงพลังงานลมต่ำ หรือการแปลงพลังงานจลน์จากที่ได้ลมไปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แรงลมมีความแปรปรวน การออกแบบกังหันลมไม่ดี และใบพัดกังหันลมฝืด นักพัฒนาจึงแก้ปัญหาโดยในระหว่างการวางแผนการก่อสร้าง ได้ใช้แพลตฟอร์มพลังงานลมอัจฉริยะเพื่อการวัดลมและการเลือกสถานที่ที่แม่นยำ และได้นำเทคโนโลยีควบคุมเสถียรภาพ (stability control technology) เพื่อแก้ไขปัญหาประสิทธิภาพการแปลงพลังงานลมต่ำมาใช้ด้วย


นอกจากนี้เนื่องจากสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งมีทั้งลม ทราย ฝน หิมะ ความแปรผันของอุณหภูมิ และรังสียูวี จึงต้องใช้กังหันลมคุณภาพสูงพิเศษ รวมถึงใช้เทคนิคพ่นสีใบพัดเพื่อเพิ่มความทนทานของกังหันด้วย 


ฟาร์มกังหันลมในพื้นที่สูงพิเศษในเมืองนาคคูถือเป็นพื้นที่ทดสอบ หากมันประสบความสำเร็จ ในอนาคตจีนก็จะทำโปรเจกต์ฟาร์มกังหันลมเช่นนี้ออกมาอีก นอกจากนี้จีนยังได้สำรวจพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานนิวเคลียร์ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานและเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย



ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, Electrek

ที่มารูปภาพ CGTN

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง