รีเซต

CENTEL-CRCต้นทุนลด ก.ย.ค่าไฟเหลือ4.45บาท

CENTEL-CRCต้นทุนลด ก.ย.ค่าไฟเหลือ4.45บาท
ทันหุ้น
2 สิงหาคม 2566 ( 07:16 )
111

โรงแรม-ห้างสรรพสินค้ารับเต็มๆ หลังรัฐเดินหน้าลดค่าเอฟที กดค่าไฟเหลือ 4.45 บาท มีโอกาสลงอีก หลังต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติลด CENTEL มีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวหนุน เป้า 60 บาท และ CRC ทราฟฟิกเดินห้างมากขึ้น ผู้บริโภคระดับบนกำลังซื้อยังดี เป้า 50 บาท

 

นายมงคล  พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที และเรียกเก็บค่าเอฟที จำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในงวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 โดยมีมติเห็นชอบค่าเอฟที ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พ.ค. – ส.ค. 2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วยเหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566

 

@ค่าไฟฟ้าผู้ประกอบการลด

 

ทั้งนี้ค่าเอฟทีที่ลดลงมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติมีการปรับตัวลดลงมาอย่างมาก ซึ่งเป็นบวกต่อผู้ประกอบการหลายกลุ่มที่ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเฉลี่ย 30% ทั้งในส่วนของ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงงานเหล็ก เป็นต้น

 

ดังนั้นการที่ค่าไฟฟ้าลดลงก็จะทำให้มีโอกาสเห็นมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของกลุ่ม โรงแรม เลือก บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ที่โดดเด่น ส่วนห้างสรรพสินค้า เลือก บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC โดดเด่น

 

@ CENTEL เป้า 60 บาท

 

ในส่วนของ CENTEL มีอัตราการเข้าพัก (OCC) ดีขึ้น คาดกำไรไตรมาส 2/2566 จะฟื้นตัวได้ดี จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการเปิดประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซันของไทยและมัลดีฟส์ ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2566  ที่ 1.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 285% จากการฟื้นตัวของ ธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก ราคาเป้าหมายปี 2566  อยู่ที่  60 บาท

 

@CRC ต้นทุนลดลง

 

ขณะที่ CRC คาดกำไรสุทธิ ไตรมาส2/2566  ที่ 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น14% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  และ -22% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยคาด 1. รายได้รวมอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัว +3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  แต่ลดลง 8% จากไตรมาสก่อนหน้า  จากยอดขายต่อสาขา (SSSG) เฉลี่ย รวมอยู่ที่ 3% กลุ่ม Fashion ยังคงเป็นตัวหนุนหลักที่คาด SSSG อยู่ที่ระดับเพิ่มขึ้น 11-12% จาก ท่องเที่ยวทยอยกลับมาทั้งในไทยและอิตาลี คาด SSSG เพิ่มขึ้น 8-9% และ 22% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามยังคงคาดเห็น SSSG เวียดนามที่ติดลบระดับ 11-12% โดยจะกระทบทั้งธุรกิจ Hardline และ Food ในเวียดนาม โดยคาด SSSG ที่ลดลง 18-19% และ 8-9% ตามลำดับ

 

ขณะที่ ธุรกิจ Hardline ในไทยยังคาดโตได้ 2-3% หนุนจากยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Powerbuy ในช่วงหน้าร้อน และธุรกิจ Food โตได้ที่ระดับ 4-5% จากการท่องเที่ยวกลับมาต่อเนื่อง 2. คาด GPM ที่ระดับ 27.8% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า  แต่ขยายตัวได้ 160 bps จากช่วงเดียวกันปีก่อน  (จาก 27.6% ในไตรมาส2/65) จากส่วนลดค่าเช่าที่ลดลง และนักท่องเที่ยวหนุนยอดขายให้สูงขึ้น

 

3. คาดค่าใช้จ่ายการขายและบริหาร (SG&A) ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัวจากการขยายสาขาและ Pre-Operating Expenses ของสาขาที่จะเปิดในครึ่งปีหลัง 2566 เป็นหลักโดยปี 2566  มีขยายสาขาไทวัสดุไปแล้วทั้งหมด 7 สาขา ซึ่งเปิดในไตรมาส 2/2566 จำนวน 3 สาขา และมีการเปิด Tops Supermarket ไปแล้ว  3 สาขา รวมถึงไม่ได้มีการปิดสาขาของ Family Mart เพิ่มเติมแต่มีการ Convert เป็น Tops Daily แทน

 

ดังนั้นคงประมาณการกำไรปี 2566 ที่ 8.4 พันล้านบาท ขยายตัว 17% (จากกำไรปี 65 ที่ 7.2 พันล้านบาท) จากครึ่งปีแรก 2566  ที่ยังคาดยังอยู่ในกรอบประมาณการทั้งปี โดยกำไรครึ่งปีแรกคิดเป็น 46% ของประมาณการ ทั้งปี ทั้งนี้ยังคงมองเวียดนามที่คาดฟื้นตัวได้ตั้งแต่ ครึ่งปีหลัง 2566 จะช่วยหนุน ไตรมาส 3/2566 ที่เป็นโลว์ซีซันได้ คงคำแนะนำ “ซื้อ” และที่ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 50 บาท

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง