รีเซต

เอกชนร้องรัฐสกัดโควิดลามภาคการผลิต หวั่นกระทบส่งออกหมดแรงพยุงเศรษฐกิจ

เอกชนร้องรัฐสกัดโควิดลามภาคการผลิต  หวั่นกระทบส่งออกหมดแรงพยุงเศรษฐกิจ
TNN ช่อง16
20 กันยายน 2564 ( 16:15 )
58

แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบจะ 2 ปีแล้ว แต่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับวิกฤติโควิดอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้น  ขณะที่หน่วยงานและบริษัทต่างๆ จะเร่งพัฒนาการวัคซีนต่อต้านไวรัสที่อุบัติขึ้น แต่การกลายพันธุ์โควิดยังคงกระทบต่อการดำรงชีวิต และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล 


โดยที่ผ่านมารัฐบาลในหลายประเทศพยายามใช้ยาแรงคุมพื้นที่สกัดโควิด ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ต้องใช้การล็อกดาวน์ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง 29 จังหวัดเพื่อรับมือกับโควิดระลอกล่าสุด และแม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น จนนำไปสู่การคลายล็อกดาวน์บางส่วน แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจยังคงซบเซา และต้องระดมสรรพกำลังจากทุกส่วนเข้ามาช่วยกันประคองไว้

   

 แต่การพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดมากไปกว่านี้นั้น เป็นเหมือนแค่การซื้อเวลาไปเรื่อยๆ เพื่อประคองไม่ให้การบริโภคสะดุดลง ในช่วงที่เครื่องยนต์ขับเครื่องเศรษฐกิจ 2 ตัวหลักคือ การท่องเที่ยว และการลงทุนยังบอดสนิทอยู่ แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดี ที่ภาคการส่งออก ซึ่งฟุบลงไปเมื่อปีก่อน เริ่มฟื้นตัวและกลายมาเป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยในปีนี้


ทั้งนี้หลังจากทั่วโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ส่งผลให้ความกังวลต่อการระบาดของโควิดคลี่คลายลง และหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มกลับมาคึกคัก ซึ่งหนุนความต้องการสินค้าหลายประเภทให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปด้วย สะท้อนได้จากตัวเลขส่งออกไทยเดือนก.ค.เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ด้วยมูลค่า 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวที่ 20.27% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 25.38%

   

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดส่งออกหลักเริ่มขยับเป็นบวก แต่มีบางตลาดที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ และสินค้าบางประเทศก็ยังไม่เตะตาตลาดโลก ดังนั้นตามไปส่องกันหน่อยว่าสินค้าตัวไหนที่ยังเป็นดาวเด่นในการขับเคลื่อนส่งออกและตัวไหนที่เป็นดาวร่วงยังไม่ฟื้นตัวและมีอุปสรรคตรงจุดไหนกันบ้าง


เริ่มจากสินค้าที่เป็นดาวเด่นอันดับแรกคือ  รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ในเดือนก.ค. 64  มูลค่าส่งออกแตะ 2,262.15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 39.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรก การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ ขยายตัวถึง 53.1% โดยขยายตัวมากขึ้นในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯ โดยภาวะการขาดแคลนชิปเพื่อการผลิตรถยนต์ มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในโรงงานผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกต่อไป


ถัดมาเป็นสินค้า ผัก ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ที่ในเดือนก.ค.   มีมูลค่า 794.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 122.8% และช่วง 7 เดือนแรก เติบโต 37.1% เนื่องจากผักและผลไม้ยังคงเป็นที่ต้องการของประเทศคู่ค้า และผลไม้ไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานระดับโลก โดยในเดือนก.ค.64 การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังจีนโต 160.3 % มาเลเซีย 25.3% และเนเธอร์แลนด์  137.8 %


ส่วนเม็ดพลาสติกยังโตโดดเด่นเช่นกัน ดยในเดือนก.ค. มีมูลค่าส่งออก 966.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 57.8% ขณะที่น้ำมันสำเร็จรูปส่งออกมีมูลค่า 720.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต  70.9% และเคมีภัณฑ์ มีมูลค่า 849.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 54.0%


หันมาดูสินค้าที่ยังเป็นดาวร่วงอันดับต้นๆ หนีไม่พ้นอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่า 1,051.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 47.2% รองลงมาเป็น อาหารทะเลกระป้องและแปรรูป มูลค่า 280.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 17.9% อาหารกระป๋องและแปรรูป ซึ่งมีคลัสเตอร์ติดเชื้อจากตลาดอาหารทะเล ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และการส่งมอบสินค้า ทำได้ช้าลงจากมาตรการของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องลดลง

   

 สำหรับข้าวจากที่ไทยเคยเป็นแชมป์ก็ตกกระป๋องซะแล้ว โดยเดือนก.ค. มีมูลค่าส่งออก 238.7ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 8% เนื่องจากราคาข้าวข้าวของไทยแพงกว่าราคาข้าวของประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย และเวียดนาม รวมทั้งปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งผลใหต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น

 

แม้ว่าในช่วง 7 เดือนแรกตัวเลขส่งออกจะสดใส แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการส่งออกอาจแตะเบรกลดความร้อนแรงลง เพราะจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า การส่งออกที่เป็นปัจจัยหลักในขับเคลื่อนเศรษฐกิจเริ่มเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งปัจจัยภายนอกประเทศที่เริ่มมีการเผชิญการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีแนวโน้มรุนแรง ขณะที่ปัจจัยในประเทศเองภาคการผลิตเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการแพร่ระบาดในโรงงาน


อย่างไรก็ดี โครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox)น่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้บ้าง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯและยุโรป ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า น่าจะยังส่งผลให้การส่งออกไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการส่งออกของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12.4% จากก่อนหน้านี้โต 11.5%


สอดรับกับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ที่มีมุมมองที่คลายกันว่า ความเสี่ยงด้านอุปทานเริ่มมีสัญญาณมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนโรงงานในประเทศที่ต้องปิดตัวชั่วคราวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงจากปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) ที่อาจเกิดขึ้นได้


โดยเฉพาะห่วงโซ่การผลิตระหว่างไทยและประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอาเซียน เห็นได้จากดัชนี Manufacturing PMI ของประเทศกลุ่มดังกล่าวที่ปรับลดลงชัดเจนในช่วงหลัง ทั้งนี้การชะลอตัวของภาคส่งออกที่เกิดขึ้น ยังคงสอดคล้องกับประมาณการส่งออกของ EIC ที่เคยมองไว้ว่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะชะลอความร้อนแรงจากช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยฐานที่จะเริ่มปรับสูงขึ้นในช่วงปลายปีก่อน รวมถึงปัญหาผลกระทบการระบาดรอบล่าสุดทั่วโลกที่ยังเป็นปัจจัยกดดันภาคส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จึงยังคงคาดการณ์ส่งออกปีนี้ไว้ที่ 15%


 ฝั่งวิจัยกรุงศรีมองว่าในระยะข้างหน้า การส่งออกของสินค้าไทยยังคงได้แรงสนับสนุนจากหลายปัจจัย ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยเพิ่มขึ้น การกลับมาดำเนินการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วการผ่อนคลายลงของภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการอ่อนค่าของเงินบาท

   

 อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากปัจจัยภายในประเทศมีเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงและแพร่เข้าสู่ภาคการผลิต ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการปิดชั่วคราวในบางโรงงาน ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกบางสาขา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงาน


ดังนั้น แม้แรงส่งจากปัจจัยภายนอกแข็งแกร่ง และสัญญาณเชิงบวกจากตัวเลขส่งออกล่าสุดที่ยังเติบโตมากกว่าคาด แต่ปัจจัยลบภายในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี โดยศูนย์วิจัยกรุงศรียังคงประมาณการการเติบโตของการส่งออกของปีนี้ไว้ที่ 13.5%เทียบกับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ที่เติบโต 16.2%


นอกจากนี้สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ มีความเป็นห่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดภายในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งกลุ่มอาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ ซึ่งมีมากกว่า 1,500 โรงงาน และหากมีการระบาดโควิด-19 มากไปกว่านี้ จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องหยุดกิจกรรมผลิต และไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ ซึ่งเป็นผลกระทบระยะสั้น และในระยะยาวไทยจะถูกลดเครดิตความเชื่อมั่นจากลูกค้า ทำให้ลูกค้าหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าอื่นแทนไทย


 ขณะเดียวกันภาคการส่งออกอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการวัคซีนใหักับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในภาคการส่งออก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคการผลิต

 

ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เสนอให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ  โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย ให้สำนักงานอาหารและยา(อย.) เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนมากยิ่งขึ้น


 การตีฆ้องร้องป่าวของภาคเอกชนดังกล่าว เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลังผู้นำรัฐบาลอย่าง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"ายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมาการันตีว่า การฉีดวัคซีนต้องครบ 100 ล้านโดส ครอบคุลมคนไทย 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากร ภายในปี 64 แถมกำชับหน่วยงานเร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอ ทั้งในส่วนที่รัฐบาลฉีดให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และวัคซีนทางเลือก ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนเบาใจไปได้ระดับหนึ่ง  


 ที่เหลือก็รอดูว่า สิ่งที่รัฐบาลประกาศออกมา จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หากทำได้จริง ประเด็นความกังวลว่าการระบาดของโควิดจะส่งแรงสะเทือนต่อภาคการผลิตและการส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจเดียวที่ยังขับเคลื่อนได้ดีในขณะนี้ ก็คงจะค่อยๆ ลดลง และทำให้ภาคการส่งออกสามารถได้ประโยชน์จากศักยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ในภาวะที่เครื่องยนต์ตัวอื่นๆ ยังห่างไกลจากการที่จะกลับมาจุดติดอีกครั้ง

   

แต่ในทางตรงข้ามหากแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจ ยังต้องการใช้วิกฤติโควิดเป็นช่องทางในการหาประโยชน์ให้กับฝ่ายตัวเอง ไม่ทำงานสอดประสานกันอย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลให้วิกฤติโควิดไม่ทุเลาลงได้ เศรษฐกิจไทยที่เริ่มจะเห็นทางฟื้น ก็คงต้องหันหัวกลับเข้าห้องไอซียูอีกครั้ง



ข่าวที่เกี่ยวข้อง