รีเซต

วิกฤตอาหารเมดิเตอร์เรเนียน โลกร้อนทำผลผลิตลดฮวบ

วิกฤตอาหารเมดิเตอร์เรเนียน โลกร้อนทำผลผลิตลดฮวบ
TNN ช่อง16
17 เมษายน 2568 ( 17:11 )
13

ข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า อุณหภูมิในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนกำลังเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 20% คาดว่าภายในปี 2050 ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และอุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้น 1.8-3.5°C ภายในปี 2100 ซึ่งหากอุณหภูมิสูงขึ้น 2°C อาจทำให้ปริมาณฝนลดลงถึง 10-15% สร้างผลกระทบต่อระบบเกษตรกรรมที่เป็นรากฐานของอาหารเมดิเตอร์เรเนียน หากอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 3°C อาจทำให้ภัยแล้งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลงอย่างรุนแรง

ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ได้แก่

น้ำมันมะกอกผลผลิตลดลงทั่วยุโรป โดยอิตาลีลดลง 54% โปรตุเกส 39% ฝรั่งเศส 38%  และสเปน 27% 

ข้าวโพดในฝรั่งเศสลดลง 30% อิตาลี 23% สเปน 20% 

แอปเปิลในกรีซลดลง 32% โปรตุเกส 20%  สเปนลดลง 15% และส้มในอิตาลีลดลง 19%

จะเห็นว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อการเกษตร ทำให้ราคาผักและผลไม้สูงขึ้นจนบางครั้งแพงกว่าเนื้อสัตว์ ประกอบกับความต้องการเดินทางไปซื้ออาหารสดจากท้องถิ่นที่ต้องใช้เวลามากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคอาหารที่ถูกกว่าและสะดวกกว่าแทน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันมะกอกที่สูงขึ้นจากภาวะผลผลิตตกต่ำยังทำให้ผู้บริโภคต้องเลือกใช้น้ำมันประเภทอื่นแทน

ภัยคุกคามจากมลพิษ การทำประมงเกินขนาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้มากกว่า 30% ของแหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตกอยู่ในอันตราย โดย 21% ของสัตว์ทะเลถูกจัดให้อยู่ในภาวะ "ใกล้สูญพันธุ์" และ 11% จัดอยู่ในกลุ่ม "เสี่ยงสูญพันธุ์" หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป สัตว์น้ำเฉพาะถิ่นกว่า 30 สายพันธุ์อาจสูญพันธุ์ภายในสิ้นศตวรรษนี้ 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามอาหารเมดิเตอร์เรเนียนตั้งแต่ระดับการผลิตไปจนถึงวิถีชีวิตของผู้คน หากไม่มีมาตรการที่เหมาะสม อาหารที่เคยเป็นสัญลักษณ์แห่งสุขภาพและวัฒนธรรมอาจตกอยู่ในวิกฤติในอนาคต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง