รีเซต

สวิสทำสวนแนวตั้งสุดอลัง พร้อมใช้พลัง "หุ่นยนต์" และ "AI" มาช่วยสร้างด้วย !

สวิสทำสวนแนวตั้งสุดอลัง พร้อมใช้พลัง "หุ่นยนต์" และ "AI" มาช่วยสร้างด้วย !
TNN ช่อง16
16 ตุลาคม 2566 ( 15:07 )
77

สถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค (ETH Zürich) นำโดยส่วนงานวิจัยกรามาซิโอ โคห์เลอร์ (Gramazio Kohler Research) สร้างสวนแนวตั้งสุดอลังการและท้าทายงานวิศวกรรม พร้อมนำเสนอเบื้องหลังการทำงานที่ได้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยสร้างในหลายขั้นตอน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ (Landmark) แทนการเฉลิมฉลอง “ซูค” ศูนย์กลางทางเทคโนโลยีแห่งใหม่ของประเทศ


สวนแนวตั้ง - สัญลักษณ์ประจำซิลิคอน วัลเลย์แห่งสวิส

ซูค (Zug - รถไฟในภาษาเยอรมัน) เป็นเมืองศูนย์กลางทางเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องของสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ทางสถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค  ได้สร้างสวนแกะสลักแนวตั้ง (Srcuptural vertical garden) ที่มีชื่อว่าเซมิรามิส (Semiramis) ที่มาจากภาษาฮิบรูซึ่งหมายถึงสรวงสวรรค์อันสูงสุด และเป็นชื่อของกษัตรีผู้กอบกู้อาณาจักรบาบิลอนในยุคก่อนหน้า 800 ปีก่อนคริสตศักราช เพื่อสื่อถึงความสร้างสรรค์ตามชื่อเสียงของกษัตรีในตำนาน


เซมิรามิสก่อตัวสูง 22.5 เมตร แบ่งออกเป็น 5 ชั้น แต่ละชั้นเป็นกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่ซึ่งทำจากแผ่นไม้ในรูปทรงเรขาคณิตที่ซับซ้อน แต่ละชั้นจะมีรูปทรงที่ไม่เหมือนกันและมีเสาเหล็กเชื่อมต่อและตรึงเอาไว้รวม 8 เส้น โดยเสาและกระถางได้สร้างรูปแบบการวางที่สลับกันอย่างสวยงามและให้ร่มเงาเป็นรูปร่างที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของวันให้สื่อความหมายเชิงศิลปะอีกด้วย


AI และ หุ่นยนต์เป็นกลไกสำคัญของสวนแนวตั้งรูปทรงสุดซับซ้อน

โดยความซับซ้อนทั้งการออกแบบและการประกอบวัสดุนั้นเป็นตัวแปรสำคัญในการวิเคราะห์รูปแบบของเซมิรามิสที่เหมาะสม โดยทีมงานออกแบบได้นำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยคำนวณ ด้วยการใส่ปัจจัยเรื่องของร่มเงา การกันฝน และการพิจารณาวัสดุที่เหมาะกับการปลูกต้นไม้เข้าไปให้ AI วิเคราะห์ด้วย


ซึ่ง AI ได้ออกแบบให้กระถางแต่ละชั้นนั้นมีรูปทรงเลขาคณิตที่ซับซ้อนและไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่สามารถให้คนมาคำนวณการรับน้ำหนักและประกอบขึ้นมาได้ด้วยวิธีการทั่วไป ด้วยเหตุนี้ จึงได้ให้ห้องวิจัยหุ่นยนต์เชิงคำนวณ (Computational Robotics Lab) ของสถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค เข้ามาออกแบบหุ่นยนต์เพื่อเป็นเครื่องมือในการนำไม้มาต่อกันตามทรงซับซ้อนที่ออกแบบไว้


สวนแนวตั้งยังออกแบบโดยคน แต่ผสมการทำงานของ AI และหุ่นยนต์ลงไปในชิ้นงาน

อย่างไรก็ตาม แนวคิดและภาพรวมการออกแบบทั้งหมดยังเกิดขึ้นโดยมนุษย์ โดยบริษัทออกแบบที่มีชื่อว่า มุลเลอร์ อิลเลี่ยม (Müller Illien Landscape Architects Gmbh) ภายใต้แนวคิดการสร้างเจดีย์ที่เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติ เพราะไม่มีใครสามารถขึ้นไปจัดการดูแลต้นไม้บนเซมิรามิสได้เลย รองรับมุมมองเชิงปรัชญาในอนาคตเมื่อผู้คนรอบเซมิรามิสมองลงมาจากกลุ่มอาคารที่จะกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของสวิตเซอร์แลนด์ในอนาคต


และแม้ว่าจะดูล้ำยุคแค่ไหน แต่ทางทีมพัฒนาเซมิรามิสยังคงใช้ประโยชน์ของสิ่งก่อสร้างในการเป็นที่ให้ร่มเงาและบังฝนสำหรับผู้คนในเขตโดยรอบซูค รวมถึงเป็นพื้นที่ใช้สอยสาธารณะสำหรับสังคม เพื่อเอื้อให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติท่ามกลางการเติบโตของเทคโนโลยีต่อไป


ที่มาข้อมูล Designboom

ที่มารูปภาพ Gramazio Kohler Research, ETH ZürichTech Cluster Zug

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง