'โฆษก รบ.' ยัน ไม่ขึ้นอัตรา VAT ชี้ มีเงินกู้พร้อมอัดฉีดเยียวยา-กระตุ้นศก.อีก 2.2 แสนล้าน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจากการรายงานความเสี่ยงทางการคลังว่า การหารือเรื่องการเงินการคลังในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา โดยกระทรวงการคลังรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งสื่อมวลชนและประชาชนอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน
โดยการรายงานนี้เป็นการรายงานประจำปีปกติ ตามข้อกฎหมายมาตรา 78 แห่ง พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)วินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดว่าภายในเดือนมีนาคมของทุกปี กระทรวงการคลังจะต้องทำรายงานความเสี่ยง เพื่อแสดงผลความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากผลกระทบเศรษฐกิจมหภาค ระบบการเงิน นโยบายของรัฐบาล และผลการดำเนินงานของนโยบายของรัฐ ที่อาจก่อให้เกิดภาระทางการคลังของรัฐบาล และแนวทางการบริหารความเสี่ยงนั้น
เมื่อกระทรวงการคลังทำรายงานเสร็จสิ้นก็ให้เสนอคณะกรรมการนโยบายการคลังของรัฐ เพื่อจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง และเสนอครม.เพื่อทราบ ยืนยันเป็นการรายงานปกติประจำปี ไม่ใช่เพราะประเทศไทยเกิดความเสี่ยงทางการคลังแล้วถึงเข้ามารายงาน
นายอนุชา กล่าวว่า ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งของเอกชน และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ที่จะรายงานให้ทราบถึงสถานการณ์ จึงขอให้เข้าใจตรงกัน ไม่ใช่เพราะประเทศไทยอยู่ในสถานะต้องดูแลความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของการประเมินความเสี่ยงครั้งนี้ กระทรวงการคลังแจ้งว่าสถานการณ์ยังอยู่ในระดับปกติ สอดคล้องกับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลที่ยังอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังรายงานยอดจัดเก็บรายได้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 64 ซึ่งยอดการจัดเก็บรายได้เป็นไปตามคาดว่าต่ำกว่า ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงมีการขยายระยะเวลาการยื่นแบบรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนมีนาคม เพื่อบรรเทาผลกระทบ
นายอนุชา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ฐานะทางการคลังของรัฐบาลตามกระแสเงินสดในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 64 คือ เดือนตุลาคม63 ถึง กุมภาพันธ์64 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 926,770 ล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,406,827 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินชดเชยการขาดดุลจำนวน 386,810 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน กุมภาพันธ์64 มีจำนวนทั้งสิ้น 516,229 ล้านบาท และถ้าเปรียบเทียบกับ 5 เดือนแรกในปีงบประมาณ 63 มีอัตราที่มากกว่าร้อยละ 50.8 นอกจากนี้ยังมีเงินกู้ที่ยังไม่ได้ใช้จ่ายและจะนำมาเป็นเงินเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปี 64 จำนวน 220,000 ล้านบาท ขอยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่มีความคิดที่จะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT จากอัตราปัจจุบัน 7 เปอร์เซ็นต์