รีเซต

ตรวจจับ Deepfake ! จีนพัฒนาฟีเชอร์วิเคราะห์วิดีโอปลอม

ตรวจจับ Deepfake ! จีนพัฒนาฟีเชอร์วิเคราะห์วิดีโอปลอม
TNN ช่อง16
9 กันยายน 2567 ( 12:38 )
19
ตรวจจับ Deepfake ! จีนพัฒนาฟีเชอร์วิเคราะห์วิดีโอปลอม

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI นับวันยิ่งซับซ้อนขึ้น หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งคือ ดีปเฟก (Deepfake) หรือเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการปลอมแปลงใบหน้าในวิดีโอเพื่อสร้างจุดประสงค์บางอย่าง เช่น การสร้างใบหน้าปลอมเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง อย่างการปลอมแปลงใบหน้าของ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ สวมใส่เครื่องแบบคอมมิวนิสต์ หรือปลอมแปลงใบหน้าอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่ถูกใส่กุญแจมือ หรืออย่างในประเทศของเรา ก็มีการใช้ AI ปลอมแปลงเป็นใบหน้าของเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดเหรียญทองโอลิมปิก 2024 ที่ชักชวนให้สมัครสินเชื่อผิดกฎหมาย


ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เหมือนจริงจนแยกออกยาก มีหลายกรณีที่มีมีคนเชื่อจนทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน เช่น พนักงานของบริษัทวิศวกรรม Arup ที่ถูกหลอกให้โอนเงิน จนสูญเสียเงินไปประมาณ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 840 ล้านบาท


ดังนั้นจึงมีบริษัทเทคโนโลยีที่พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ อย่างเช่นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนอย่าง ออเนอร์ (Honor) ได้พัฒนาฟีเชอร์ที่ทำงานด้วย AI มีคุณสมบัติตรวจจับว่าใบหน้าในวิดีโอเป็นใบหน้าจริงหรือเกิดจากการปลอมแปลง ฟีเชอร์นี้สามารถติดตั้งในอุปกรณ์ เช่น สมาร์ตโฟน หรือแท็ปเล็ตได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับคลาวน์เพื่อใช้งาน และมีวิธีการทำงานคือ ตัว AI จะวิเคราะห์ความไม่สอดคล้องกันของแต่ละเฟรมของวิดีโอ เช่น โครงร่างใบหน้าที่อาจเบลอเล็กน้อย หรือการเคลื่อนไหวของแสงที่ผิดปกติ จากนั้นฟีเชอร์จะสรุปผลว่าเป็นวิดีโอที่ถูกปลอมแปลงโดย AI หรือไม่


จอร์จ จ้าว (George Zhao) ซีอีโอของ Honor กล่าวว่า “AI ทำให้มนุษย์เราได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ยอดเยี่ยมและน่าทึ่ง มันเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของเรา แต่พูดตรง ๆ คือ AI ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้นเราจึงใช้ AI เพื่อให้ผู้คนมีเครื่องมือในการตรวจสอบการหลอกลวง”


ปัจจุบันฟีเชอร์ตรวจจับวิดีโอปลอมของ Honor ได้ถูกนำมาสาธิตการทำงาน ณ งานแสดงเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภค IFA ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 10 กันยายน 2024 ส่วนกำหนดการนำมาใช้งาน บริษัทคาดว่าสามารถนำฟีเชอร์ไปใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ภายใน 1 - 2 ไตรมาสข้างหน้านี้


อย่างไรก็ตาม Honor ไม่ใช่บริษัทแรกที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจจับการปลอมแปลงใบหน้าด้วย AI ก่อนหน้านี้บริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง ไมโครซอฟต์ (Microsoft) ก็ได้พัฒนาเครื่องมือที่สามารถวิเคราะห์ภาพถ่าย หรือวิดีโอเพื่อให้คะแนนความเชื่อมั่นว่าวิดีโอนั้นถูกดัดแปลงหรือไม่ หรือบริษัทผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ชื่อดังอย่าง อินเทล (Intel) ก็ได้พัฒนาเครื่องมือที่ชื่อว่า เฟกแคชเชอร์ (FakeCatcher) ใช้วิเคราะห์พิกเซลของรูปภาพเพื่อตรวจสอบว่าเป็นรูปจริงหรือรูปปลอมออกมาเช่นกัน


ที่มาข้อมูลและรูปภาพ APvideohub

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง