"TikTok" ปลดคน ย้ำกลยุทธ์ลดต้นทุน ปรับโครงสร้างเร่งประสิทธิภาพ l การตลาดเงินล้าน

Business Insider รายงานว่า TikTok เดินหน้าปรับลดต้นทุนทั้งองค์กร หลังทุ่มงบจำนวนมากตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม TikTok Shop ที่แม้จะเติบโตในบางตลาด แต่ยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่บริษัทคาดหวังไว้
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา TikTok Shop ได้เริ่มปรับลดพนักงานจากผลการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมออกมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายในหลายด้าน เช่น การบังคับให้กลับเข้าทำงานที่สำนักงานอย่างเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงปรับโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงานเป็นรอบที่สองในเดือนพฤษภาคม
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา TikTok ได้เริ่มการปรับลดพนักงานรอบล่าสุด โดยเน้นไปที่ทีมปฏิบัติการด้านอีคอมเมิร์ซ และทีมที่ทำงานร่วมกับแบรนด์ระดับโลกบางส่วน ภายใต้เป้าหมายเพื่อสร้างโครงสร้างการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะยาว
นอกจากการปรับลดกำลังคน TikTok ยังออกนโยบายควบคุมงบประมาณที่เข้มงวดมากขึ้นทั่วทั้งบริษัท เช่น การกำหนดเพดานงบประมาณสำหรับการเดินทาง และกระบวนการอนุมัติที่ละเอียดขึ้น เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในรายละเอียดอย่างเป็นระบบ
ในไตรมาสปัจจุบัน ทีมงานหลายฝ่ายได้รับคำสั่งให้โฟกัสกับตัวชี้วัดด้านต้นทุน กำไร และรายได้ อาทิ มูลค่าสินค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์ม (GMV) แทนการวัดผลตามตัวชี้วัดทั่วไปในอดีต
หนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การยุติการสนับสนุนค่าจัดส่งฟรีให้กับผู้ขายบน TikTok Shop ในสหรัฐฯ ภายในสิ้นเดือนนี้ โดยก่อนหน้านี้ TikTok ได้ทยอยลดเงินอุดหนุนในส่วนนี้มาแล้ว และการยุติสิทธิประโยชน์ดังกล่าวอาจสร้างแรงกระเพื่อมกับพันธมิตรผู้ขายบางราย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ TikTok เข้าใกล้โมเดลธุรกิจของคู่แข่งอย่าง Amazon มากขึ้น
การปรับลดครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ TikTok กำลังเผชิญแรงกดดันด้านกฎหมายในสหรัฐ โดยเฉพาะประเด็นกฎหมายการถอนการลงทุน (divestment) ที่อาจนำไปสู่การแบน TikTok หากไม่สามารถหาทางออกกับรัฐบาลสหรัฐฯ ภายในปี 2024 ได้
อีกด้านหนึ่ง บริษัทแม่ ByteDance แสดงความผิดหวังต่อผลประกอบการของ TikTok Shop ในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหลายด้านในปี 2024 โดยเฉพาะยอดขายที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อในสหรัฐฯ ลดลงกว่าร้อยละ 20 ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายดังกล่าว TikTok ได้ปรับโครงสร้างทีมบริหารอีคอมเมิร์ซ โดยมอบหมายอำนาจให้กับผู้บริหารที่มีประสบการณ์จากแอป Douyin ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในจีนที่ประสบความสำเร็จด้านอีคอมเมิร์ซ
หลังการปรับลดพนักงานหลายระลอก และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทีมในระดับองค์กร TikTok Shop ในสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างกระชับ เดินหน้าเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะที่วิดีโอบน TikTok ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง ความท้าทายของธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังคงดำเนินต่อไป โดยความสามารถในการบริหารต้นทุน การสร้างความมั่นใจในทีมงาน และการปรับตัวให้ทันต่อสภาวะแวดล้อมทั้งทางธุรกิจและการเมือง จะเป็นกุญแจสำคัญต่อความยั่งยืนในอนาคตของแพลตฟอร์มนี้