‘อาคม’ เล็งมาตรการภาษี ฟื้นอสังหา-ชูเร่งเบิกจ่าย
ทันหุ้น - สู้โควิด - 'อาคม' ยันรัฐบาลเร่งฟื้นฟูขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เร่งเบิกจ่ายอัดฉีดเงินเข้าระบบ พร้อมให้พิจารณามาตรการทางภาษี เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ ด้านนักวิเคราะห์คาดภาครัฐออกมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์, ยานยนต์ และตลาดทุน มองการเมืองกดดันเม็ดเงินต่างชาติ แนะหุ้นมีปัจจัยเฉพาะตัวปันผลสูง MCS-DCC-ASK-JMART
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยอมรับการเลือกใช้มาตรการล๊อกดาวน์ (Lock down) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ก่อนจะฟื้นฟูเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ทั้งนี้การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทย ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กระทรวงการคลังจึงต้องรักษาสมดุลระหว่างรายรับ – รายจ่ายของรัฐบาลให้อยู่ในระดับเหมาะสม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ทั้งนี้ยอมรับว่า รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ เพราะเศรษฐกิจภาคเอกชนมีสัดส่วนประมาณ 70% ของ GDP โดยจะเร่งพิจารณาดำเนินการผ่านมาตรการด้านการคลัง โดยเฉพาะมาตรการทางภาษีต่างๆ เพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก
*เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ
การพิจารณาดำเนินนโยบายด้านการคลัง จะทำงานสอดประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับนโยบายด้านการเงิน เพื่อให้การดำเนินนโยบายสอดประสานกันและส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ โดยภาระกิจเร่งด่วนคือการกระตุ้นการบริโภค และการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจต่างๆ ผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว
สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ จะเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับการอนุมัติแล้ว รวมทั้งการจัดแหล่งเงินลงทุนที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในระยะต่อไป
*หวังมาตรการกระตุ้นภาษี
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผย คาดว่ารัฐบาลจะเร่งออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายวิเคราะห์มีความคาดหวังมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์, มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์, รวมถึงมาตรการตลาดทุน อาทิ การต่ออายุ SSFX พร้อมลดเวลาถือครองหุ้น เหลือ 7 ปี จาก 10 ปี, เว้นภาษีเงินปันผลผู้ลงทุนเกิน 1 ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากบรรยากาศทางการเมือง ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงปี 2563 นี้ไม่มีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ขาดเม็ดเงินใหม่เข้ามาหนุน ฝ่ายวิจัยจึงแนะนำให้นักลงทุนเข้าลงทุนในหุ้นที่ธุรกิจยังมีแนวโน้มขยายตัว และให้อัตราเงินปันผลสูง
อาทิ MCS ซึ่งพึ่งประกาศได้งานใหม่ 2 โครงการหนุนรายได้โตต่อเนื่อง ฝ่ายวิจัยคาดอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงถึง 6.58% ราคาเหมาะสม 19.50 บาท, DCC คาดการกำไรงวดไตรมาส 3/2563 โตถึง 70% จากปีก่อน แนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 3.10 บาท คาดอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 6.3%, ASK คาดผลการดำเนินงานงวดครึ่งหลังของปี 2563 มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง แนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 25 บาทคาดอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 6.8%, และ JMART ซึ่งจะได้อานิสงส์จากการเปิดตัวไอโฟน 12 ประกอบกับราคาซื้อ-ขาย บน P/E เพียง 20 เท่า ต่ำกว่า PE ของกลุ่มที่ 40 เท่า คาดอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 3.7% ราคาเหมาะสมที่ 18 บาท