รีเซต

มอเตอร์โชว์ 2022 : รถยนต์ EV คืออะไร? รู้ไว้ก่อนไปเดินงาน

มอเตอร์โชว์ 2022 :  รถยนต์ EV คืออะไร? รู้ไว้ก่อนไปเดินงาน
NewsReporter
24 มีนาคม 2565 ( 17:37 )
310

มาถึงเทศกาลเปลี่ยนรถกันแล้วในงาน มอเตอร์โชว์ 2022 มีโปรโมชั่นรถยนต์ ใครที่กำลังเล็งๆ อยากเปลี่ยนรถใหม่ หรือสนใจจะซื้อรถใหม่ อาจกำลังมีคำถามแบบนี้อยู่ในหัว เราจะซื้อรถใหม่ทั้งทีจะซื้อแบบที่รถยนต์ใช้น้ำมัน หรือรถยนต์ EV ดี! วันนี้ TrueID  มีคำตอบรวบรวมข้อมูลมาให้ทุกท่านแล้ว

 

รถยนต์ไฟฟ้า EV คืออะไร ?

รถ EV มีชื่อเรียกแบบเต็มๆ ว่า Electric Vehicle แปลได้อย่างตรงตัวว่ารถไฟฟ้า ค่ายรถยนต์หลายค่ายไม่ว่าจะค่ายเล็กหรือค่ายใหญ่ต่างก็เริ่มปรับตัวจากการใช้เครื่องยนต์ดีเซล หรือเครื่องยนต์เบนซินเพียงอย่างเดียว มาพัฒนาเครื่องยนต์ และแบตเตอรี่ไฟฟ้าให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะยังมีการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และเบนซินอยู่ แต่ทิศทางของรถ EV ก็เติบโตมากขึ้นเช่นกัน

 

รถยนต์ไฟฟ้าสามารถแบ่งได้หลายประเภทตามชื่อเรียก และกลุ่มของการใช้พลังงานในการขับเคลื่อน ตั้งแต่การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว จนถึงการใช้ระบบไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อน และยังมีรถยนต์ชนิด Fuel Cell Vehicles (FCV) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน และคาดว่าจะเข้ามาถึงตลาดได้ภายในเร็ววัน ในปัจจุบันรถยนต์ EVสามารถแบ่งตามเทคโนโลยีออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

1. รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานผสมผสานระหว่าง เชื้อเพลิงทั่วไป และพลังงานไฟฟ้าจากการแบตเตอรี่ รถยนต์ประเภทนี้จะมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่าแบบใช้เครื่องยนต์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเมื่อมีการเหยียบเบรกรถ บางส่วนของพลังงานจะถูกจัดเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และพลังงานที่เก็บไว้สามารถใช้ในภายหลังเพื่อการขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมกับการทำงานของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้

 

2. รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) รถยนต์ประเภทนี้มีระบบ น้ำมันเชื้อเพลิง และระบบไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถยนต์ไฮบริด แต่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้จากภายนอก หรือ Plug-in ทำให้เมื่อเสียบชาร์จพลังงานแล้วรถก็สามารถวิ่งไปได้ในระยะทางที่มากกว่าระบบไฮบริดแบบเดิม และแบตเตอรี่ที่ใช้ ยังสามารถชาร์จไฟเพิ่มเพื่อกักเก็บประจุได้ตามต้องการ และเมื่อแบตเตอรี่หมดลงรถจะทำงานคล้ายกับระบบแบบไฮบริด (HEV )

 

3. รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวในการขับเคลื่อน (Plug-in Electric Vehicles : PEVs) รถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้จะคล้ายคลึงกับรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) เพียงแต่จะมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักเพียงอย่างเดียว เมื่อแบตเตอรี่หมดลงจะต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จประจุใหม่ สามารถแยกตามการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้ ได้ดังนี้

3.1 รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้วิ่งในระยะสั้น หรือในละแวกใกล้เคียง มีช่วงการขับขี่ต่ำและทำงานที่ความเร็วต่ำ ตัวอย่างเช่น GEM Electric Motorcar

3.2 รถยนต์ไฟฟ้าประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) รถยนต์ประเภทนี้ขับเคลื่อนโดยใช้พลังงาน ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ 100% จึงต้องมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ และสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลต่อการชาร์จต่อหนึ่งครั้ง ทั้งนี้รถยนต์(Plug-in Electric Vehicles : PEVs) จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในจึงไม่ทำให้เกิดสารก่อมลพิษในขณะขับเคลื่อนหรือที่เรียกว่า Zero Emission แต่มีข้อเสียอยู่ที่มีระยะทางการวิ่งจำกัด โดยระยะทางในการขับขี่จะขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ในการใช้งาน และเส้นทางวิ่ง

3.3 รถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle – FCEV) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อน และใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) โดยเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากการเติมเชื้อเพลิงภายนอก โดยไม่มีการปล่อยมลพิษ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์โดยตรง จะมีเพียงการปลดปล่อยน้ำเท่านั้น ในปัจจุบันรถยนต์แบบ FCEV มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจะมีการเติบโต รวมถึงเข้าสู่ตลาดได้กันในเร็ววัน

 

ชาร์จไฟยังไง และชาร์จที่บ้านได้ไหม? 

วิธีการชาร์จไฟรถ EV นั้น จะแบ่งได้เป็น 3 แบบหลักๆ คือ (1) Quick Charger (2) Normal Charger แบบเครื่องชาร์จ Wall Box และ (3) Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับในบ้าน ซึ่งวิธีที่ 2-3 นี้ เราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อชาร์จไฟรถ EV ในบ้านได้

  1. แบบ Quick Charge เป็นการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) โดยใช้ตู้ EV Charger (สถานีชาร์จรถไฟฟ้า) จ่ายไฟ DC เข้าที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง การชาร์จแบบนี้จะเร็วที่สุดใน 3 แบบ สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ในเวลาประมาณ 40-60 นาที แต่ก็ขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ด้วย เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ ประเภทหัวชาร์จของ Quick Charger ได้แก่ CHAdeMo (ย่อมาจาก Charge de Move ใช้แพร่หลายในญี่ปุ่น), GB/T (พัฒนาโดยจีน) และ CCS (ย่อมาจาก Combined Charging System ใช้ในยุโรปและอเมริกา)
  2. Normal Charger แบบเครื่องชาร์จ Wall Box เป็นการชาร์จด้วยไฟกระแสไฟฟ้าสลับ (AC Charging) ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเห็นกันในรูปของตู้ชาร์จติดผนังตามห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม โดยชาร์จผ่านตัวแปลงไฟที่จะทำหน้าที่ในการแปลงไฟกระแสสลับ ไปเป็นไฟกระแสตรง ระยะเวลาในการชาร์จอาจมีได้ตั้งแต่ 4 – 9 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ และสเปครถ   
  3. Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง โดยมีเงื่อนไขว่ามิเตอร์ไฟของบ้านต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 15(45)A และเต้ารับไฟในบ้านต้องได้รับการติดตั้งใหม่ เป็นเต้ารับเฉพาะสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถใช้เต้ารับแบบธรรมดาได้ เนื่องจากรถ EV จำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟ้าสูงขณะทำการชาร์จ จึงควรต้องตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้านให้มีความเหมาะสมต่อปริมาณความต้องการกระแสไฟฟ้า เช่น สะพานไฟ และขนาดของสายไฟ ว่าสามารถรองรับปริมาณกระแสที่มากได้หรือไม่ และอุปกรณ์ชาร์จควรมีระบบตัดไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อชาร์จเต็ม หรือเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย ดังนั้น ข้อแนะนำคือควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ติดตั้งเพื่อความปลอดภัยจะดีที่สุด ปัจจุบัน บริษัทเอกชนหลายแห่งได้มีการนำเข้าตัวชาร์จเข้ามาจำหน่าย พร้อมบริการติดตั้งตามบ้านเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจรถ EV แล้ว ระยะเวลาการชาร์จของวิธีนี้จะนานสุด คือกว่า 12-15 ชั่วโมง

 

ทีนี้เราก็เข้าใจแล้วว่ารถไฟฟ้าคืออะไร จะควรเลือกซื้ออย่างไรให้ตรงกับใจเราให้มากที่สุด และเพื่อความปลอดภัยในสถานการณ์ปัจจุบันควรเตรียมตัวให้อยู่ในมาตรการโควิดอย่างเคร่งครัด ใส่แมสก์ เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ขอให้ทุกท่านปลอดภัย

 

ข้อมูล : erdi , krungsriauto

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง