รีเซต

พรมแดนจีน-อินเดียระส่ำ ทหารเข้าพื้นที่ สุ่มเสี่ยงเกิดปะทะอีกหน

พรมแดนจีน-อินเดียระส่ำ ทหารเข้าพื้นที่ สุ่มเสี่ยงเกิดปะทะอีกหน
TNN ช่อง16
14 ตุลาคม 2564 ( 19:40 )
171
พรมแดนจีน-อินเดียระส่ำ ทหารเข้าพื้นที่ สุ่มเสี่ยงเกิดปะทะอีกหน

◾◾◾
🔴 ความขัดแย้งบนเทือกเขาหิมาลัย

เมื่อ 16 เดือนที่แล้ว ทหารจีนและอินเดียได้ต่อสู้กันในเทือกเขาหิมาลัย ตามแนวเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง (Line of Actual Control - LAC) ซึ่งเป็นพรมแดนที่ไม่ชัดเจนระหว่างสองประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ และปัจจุบัน ความตึงเครียดดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

ตามรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันพบว่า การเจรจาเพื่อลดระดับสถานการณ์มาถึงทางตัน และเนื่องจากมีการเสริมกำลังของทั้งสองฝ่าย กองทหารจากทั้งสองฝ่ายจึงยังตั้งหลัก ดูเชิงกันอยู่ในเวลานี้ 

◾◾◾
🔴  จากอดีตสู่ปัจจุบันของสถานการณ์พื้นที่ทับซ้อน

ในปี 1962 อินเดียและจีนเริ่มสงครามแย่งชิงพื้นที่ชายแดนที่ห่างไกล และในที่สุดก็ก่อตั้งเส้น LAC ขึ้น ซึ่งเป็นเส้นที่ไม่มีพิกัดที่แน่นอน ทั้งสองประเทศกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งใช้เขตเกินกำหนด หรือพยายามขยายอาณาเขตของตนเป็นประจำ 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็มีการต่อสู้กันอย่างประปรายของสองประเทศอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดการปะทะกันในเดือนมิถุนายน 2020 ซึ่งถือเป็นการปะทะกันที่ร้ายแรงที่สุดบนเขต LAC ในรอบกว่า 40 ปี 

โดยหลังจากการสู้รบครั้งนั้น ซึ่งทหารอินเดียอย่างน้อย 20 นายและทหารจีน 4 นายถูกสังหาร, ผู้นำกองกำลังทหารตามลำดับบังคับบัญชาได้เริ่มจัดการเจรจาแบบต่อหน้า เพื่อลดความตึงเครียดที่ยังค้างคา

◾◾◾
🔴 สงครามแย่งชิงพื้นที่สื่อ ที่ส่อเค้าลุกลาม

การประชุมครั้งที่ 13 ของทั้งสองชาติจัดขึ้นในวันอาทิตย์ (10 ตุลาคม) ที่ผ่านมา และจบไม่สวยนัก แม้การหารือก่อนหน้านี้ ช่วยทำให้การสู้รบสงบลง แต่ถ้อยแถลงจากกระทรวงกลาโหมอินเดียเมื่อวันจันทร์ (11 ตุลาคม) มีการกล่าวหาว่าจีนไม่ได้ให้ความร่วมมืออีกต่อไป

“สถานการณ์ตามแนวเส้น LAC นั้นเกิดจากความพยายามของจีนในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ และเป็นการละเมิดข้อตกลงทวิภาคี” คำแถลงระบุ 

“ฝ่ายอินเดียจึงเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เหลือ แต่ฝ่ายจีนไม่เห็นด้วย และไม่สามารถเสนอแนะ และคาดการณ์ล่วงหน้าใดๆ ได้”

แต่รัฐบาลจีน มองสถานการณ์แตกต่างออกไป โดยระบุว่า “จีนได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการส่งเสริมบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และเพื่อบรรเทาสถานการณ์ชายแดน โดยแสดงความจริงใจอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพทั้งสอง"

"อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงยืนกรานในข้อเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผลและเป็นไปไม่ได้ซึ่งทำให้การเจรจายากขึ้น” พ.อ.หลง เชาฮวา โฆษกกองบัญชาการปีกตะวันตกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) แถลง

◾◾◾
🔴 สื่อจีนชี้ ควรพับโต๊ะเจรจา-เตรียมพร้อมปะทะ

บทความในหนังสือพิมพ์ Global Times ที่ดำเนินการโดยรัฐของจีน กล่าวถึงวาทะดังกล่าว โดยกล่าวหาอินเดียว่า "ทำให้เกิดสถานการณ์ตามแนวชายแดนด้านตะวันออก"

Global Times กล่าวว่าการเผชิญหน้าทำให้ความสัมพันธ์ตามแนวชายแดนตึงเครียด โดยระบุว่าผู้เชี่ยวชาญของจีนเตือนถึงความเสี่ยงของความขัดแย้งครั้งใหม่ และชี้ว่า จีนควรจะปฏิเสธข้อเรียกร้องของอินเดียที่โต๊ะเจรจา และควรจะเตรียมพร้อมปกป้องตนจากการรุกรานทางทหารครั้งใหม่ของอินเดียด้วย” 

จากนั้น ก็เกิดความเคลื่อนไหวของทหารรักษาดินแดนของจีนบนพรมแดนหิมาลัย โดยบรรยายถึง "สภาพการทำงานในแต่ละวันที่ตึงเครียด" 

เมื่อมีสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น ผู้บัญชาการที่แนวหน้าจะนำหน่วยลาดตระเวนเตรียมพร้อมทันที และทหารในพื้นที่ดังกล่าวได้เขียนคำร้องสำหรับการเตรียมพร้อมรบอีกด้วย 

และในปัจจุบัน จีนกำลังพยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานในดินแดนทุรกันดารแห่งนี้ โดยกล่าวว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจของทหาร และเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนย้ายกองกำลังไปยังจุดต่าง ๆ ตามแนว LAC

◾◾◾
🔴 จีนซัด "ตัวบงการ" ทำสองพื้นที่หวั่นปะทุสงคราม

เมื่อมีคำถามว่า เหตุใดสถานการณ์ชายแดนระหว่างอินเดียกับจีนจึงเพิ่มความร้อนแรงขึ้น สื่อทางการของจีนก็มีคำตอบที่คุ้นเคย เช่นเดียวกับสถานการณ์ความตึงเครียดในไต้หวัน โดย Global Times ชี้นิ้วไปที่สหรัฐอเมริกาว่าเป็นตัวการ

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียได้เข้าร่วมการประชุมของกลุ่ม QUAD กับนายไบเดนและนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียและญี่ปุ่นในกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเป็นการประชุมทางยุทธศาสตร์ที่ไม่เป็นทางการของสี่ประเทศประชาธิปไตย ซึ่งเป็นประเทศที่มีส่วนได้เสียกับการเติบโตของจีน

ท่ามกลางการคุกคามของกองทัพอากาศจีนทั่วไต้หวันเมื่อต้นเดือนนี้ Global Times กล่าวว่าสหรัฐฯ และญี่ปุ่นกำลังผลักดันสถานการณ์รอบเกาะไต้หวันจนใกล้จะถึงจุดที่ "สร้างความรู้สึกหวาดระแวงว่าสงครามอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ" 

พาดหัวข่าวของ Global Times เกี่ยวกับเทือกเขาหิมาลัยเมื่อวันจันทร์ (11 ตุลาคม) ระบุว่า กองทหารชายแดนของ PLA นั้น “เตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว”

◾◾◾
🔴 สถานการณ์จะไม่หยุดอยู่แค่นี้

ไต้หวันและเทือกเขาหิมาลัยอาจอยู่ห่างกัน 4,500 กิโลเมตร และมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ในข้อพิพาทเรื่องดินแดนทั้งสองกำลังมีความคุกรุ่นอยู่ และจีนมองว่าสหรัฐฯ เป็นตัวการที่คอยชักใยทั้งสองกรณี 

"ทำเนียบขาวให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับอินเดีย เนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ มักมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลอินเดียตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และได้หารือร่วมกันถึงแผนการขัดขวางการเติบโตของจีน" หลิน หมินหวาง ศาสตราจารย์แห่งสถาบันสากลศึกษา ที่มหาวิทยาลัย Fudan กล่าวอ้างอิงจากบทความของ Global Times
 
ในบทความแสดงความคิดเห็น หลังการประชุมสุดยอดผู้นำ QUAD หลี่ ไหตงศาสตราจารย์แห่งสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยการต่างประเทศจีนระบุว่า ประเทศสมาชิกกลุ่ม QUAD "จะไม่หยุดยั้งแนวคิดว่า 'จีนเป็นภัยคุกคาม' อย่างแน่นอน
—————

เรื่อง: นราธร เนตรากูล

ภาพ: Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง