รีเซต

นักวิจัยพบแหล่งที่มาสารดอง ‘มัมมี่’ ไขความลับแดนไอยคุปต์

นักวิจัยพบแหล่งที่มาสารดอง ‘มัมมี่’ ไขความลับแดนไอยคุปต์
TNN ช่อง16
3 กุมภาพันธ์ 2566 ( 14:21 )
91

ทีมนักวิจัยเข้าใกล้การไขความลับของการทำมัมมี่อียิปต์โบราณไปอีกขั้น ! หลังจากสามารถระบุส่วนผสมในโหลใส่น้ำยาดองมัมมี่ได้ และพบว่าส่วนผสมบางอย่างนำเข้าจากแดนไกลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว


ภาพจากรอยเตอร์

โดยนักวิจัยได้ใช้การวิเคราะห์ทางชีวเคมีกับสารตกค้างในโหลเซรามิก 31 ใบ ที่เคยใช้บรรจุสารดองมัมมี่ โดยเป็นกลุ่มโหลที่ค้นพบเมื่อปี 2016 จากบริเวณสุสานโบราณแถบ ซัคการา (Saqqara) ใกล้กับกรุงไคโร ประเทศอียิปต์


ภาพจากรอยเตอร์

นักวิจัยพบว่าในสารตกค้าง ที่คาดว่าเป็นสารดองใช้ส่วนผสมหลายอย่าง ที่ไม่มีในอียิปต์ โดยมีส่วนผสมที่มาจากป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ยางไม้จากต้นแดมมาร์ (dammar tree) และ เรซินของต้นเอเลมี (elemi tree) ซึ่งจะโตแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแอฟริกาเขตร้อน


ภาพจากรอยเตอร์

การศึกษาครั้งนี้ ยังช่วยให้นักวิจัยได้ปรับปรุงการระบุส่วนผสมที่ค้นพบไปแล้วด้วย อย่างเช่น โหลที่เคยคิดว่าเป็น มดยอบ (Myrrh) หรือ กำยาน (frankincense) ก็พบว่าจริง ๆ แล้วในนั้นมันมีส่วนผสมอื่น ๆ อีก เช่น น้ำมันซีดาร์ (Cedar Oil) และไขมันสัตว์ (animal fats) เป็นต้น


ภาพจากรอยเตอร์

 

การค้นพบนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ซึ่งนับว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญมาก เพราะถึงแม้จะมีการศึกษาเกี่ยวกับการทำมัมมี่มานานกว่าสองศตวรรษ แต่ก่อนหน้านี้ นักวิจัยก็ทำได้เพียงแค่คาดเดาส่วนผสมในการดองมัมมี่ จากที่กล่าวถึงในตำราโบราณเท่านั้น อีกทั้งการระบุได้ว่าส่วนผสมที่ใช้ นำมาจากแหล่งใดบ้าง ยังทำให้เห็นว่าชาวอียิปต์โบราณ จริงจังกับการทำมัมมี่ ถึงขั้นนำเข้าส่วนผสมจากแดนไกล ถือได้ว่าอุตสาหกรรมการทำมัมมี่อาจเป็นตัวกระตุ้นการค้าในยุคแรก ๆ อีกด้วย


สำหรับการทำมัมมี่ เป็นวิธีการดองศพของชาวอียิปต์โบราณ ซึ่งเชื่อว่าเพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังความตายได้อย่างสมบูรณ์ และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปพร้อมๆ กับงานวิจัยวิทยาศาสตร์ก็ทำให้เราค้นพบสิ่งใหม่น่ารู้ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ 'มัมมี่' สิ่งอัศจรรย์จากอารยธรรมโบราณ



ข้อมูลจาก reutersyahoothedailybeast

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง