รีเซต

พบไวรัส 1,700 สายพันธุ์ ในธารน้ำแข็งประเทศจีน

พบไวรัส 1,700 สายพันธุ์ ในธารน้ำแข็งประเทศจีน
TNN ช่อง16
7 กันยายน 2567 ( 15:45 )
31
พบไวรัส 1,700 สายพันธุ์ ในธารน้ำแข็งประเทศจีน

ทีมนักวิจัยที่นำโดยมหาวิทยาลัย Ohio State University ในประเทศสหรัฐอเมริกา ขุดค้นพบเศษดีเอ็นเอของไวรัสโบราณเกือบ 1,700 สายพันธุ์ ที่มีอายุกว่า 41,000 ปี และรอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศครั้งใหญ่ระดับโลกมาถึง 3 ครั้ง 


โดยทีมนักวิจัย พบเศษดีเอ็นเอเหล่านี้ อยู่ใต้ธารน้ำแข็ง Guliya Glacier ในเทือกเขาหิมาลัย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเขตปกครองตนเองทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพบว่าไวรัส 3 ใน 4 เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่ถูกค้นพบ ทั้งนี้ทางนักวิจัยเตรียมศึกษาต่อ เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมไวรัสเหล่านี้ จึงสามารถปรับตัว จนมีชีวิตรอดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมาได้ 


ทั้งนี้ ก้อนน้ำแข็ง ที่ได้จากธารน้ำแข็งดังกล่าว เป็นทรัพยากรทางการวิจัยที่มีค่ามาก เพราะมีตัวอย่างน้อยมากในปัจจุบัน สำหรับจะใช้ตรวจสอบและวิจัยเกี่ยวกับเรื่องไวรัสและจุลินทรีย์ ซึ่งจากการตรวจสอบของนักวิจัยเบื้องต้นพบว่า ตัวแกนน้ำแข็งที่พบไวรัสดังกล่าว อยู่ลึกลงไปในธารนำแข็งราว 1,000 ฟุต หรือประมาณ 305 เมตร ซึ่งสามารถแบ่งช่วงของน้ำแข็งออกได้เป็น 9 ช่วง แต่ละช่วงแสดงถึงเวลาที่แตกต่างกัน ตั้งแต่สภาพอากาศเย็นเปลี่ยนไปเป็นอุ่นกว่า 3 รอบ (Cold-to-Warm cycles) ในช่วงราว 160 - 41,000 ปีที่ผ่านมา


นอกจากนี้ทางนักวิจัยยังได้สกัดดีเอ็นเอ จากแต่ละส่วนของน้ำแข็ง และใช้กระบวนการที่เรียกว่าการวิเคราะห์เมตาจีโนม (metagenomic analysis) เพื่อระบุสายพันธุ์ไวรัส ซึ่งได้ออกมามากถึง 1,700 สายพันธุ์ ตามที่กล่าวไว้ในข้างต้น


ทั้งนี้ Jean-Michel Claverie ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Aix-Marseille ในประเทศฝรั่งเศส และผู้นำด้านการวิจัยในเรื่องนี้ แสดงความกังวลว่าตัวไวรัสที่ถูกกักขังไว้ อาจหลุดออกมาแพร่สู่คนได้ เนื่องจากภาวะโลกร้อน จนทำให้น้ำแข็งละลายอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความสามารถในการปรับตัวของไวรัสเหล่านี้ ที่สามารถมีชีวิตรอดมาได้อย่างยาวนาน ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่า ไวรัสที่แพร่เชื้อสู่สัตว์หรือมนุษย์ อาจจะยังคงแพร่เชื้อได้ภายใต้สภาพเดียวกัน เพราะจากการตรวจสอบไวรัส พบดีเอ็นเอของไวรัสที่แพร่เชื้อสู่สัตว์หรือมนุษย์ อยู่ในน้ำแข็งนี้ด้วยกันถึง 1 ใน 4 


ตามรายงานของศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาภูเขาแบบบูรณาการ International Center for Integrated Mountain Development (ICIMOD) ในปี 2023 คาดการณ์ว่าภายในปี 2100 ปริมาณธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยร้อยละ 30 - 50 อาจละลายหายไปจนหมด หากสภาพอากาศยังอุ่นขึ้นอีก 1.5 - 2 องศา


แหล่งที่มา : interestingengineering.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง