‘รวยด้วยพริก’ เครือข่ายเกษตรโตได้ยั่งยืน
องค์ความรู้ การผลิต และการตลาด ปัจจัยสำคัญในการทำเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งคำว่า ‘เกษตรสมัยใหม่’ อาจโยงไปถึงการใช้เทคโนโลยี การบริหารจัดการฟาร์มที่ทันสมัย แต่ถ้าหากขยายความให้ลึกซึ้ง อาจเป็นเพียงแค่การปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบที่ดีกว่า เสถียรกว่า และขายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม โดยการเชื่อมโยงซัพพลายเชนทั้งหมดไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเกิดภาพดังกล่าวขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่าย เชื่อมั่นในบทบาทและส่งเสริมซึ่งกันและกัน
แนวคิดริเริ่มของหนุ่มใหญ่เมืองพ่อขุนรามคำแหง ผู้ได้ฉายาว่า ‘ราชาแห่งพริก’ คุณยศวัฒน์ ศิริอธิพันธ์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุโขทัยการเกษตรภัณฑ์ พื้นเพครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา และปลูกพืชไร่ ผู้รวมกลุ่มเกษตรกรทำเครือข่ายเกษตรโดยการส่งเสริมความรู้การปลูกพริกให้เป็นที่ต้องการของตลาด ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การนำองค์ความรู้ใหม่ๆ มาปรับปรุงและพัฒนาผลผลิต ไปจนถึงการเชื่อมโยงซัพพลายเชน ผู้ผลิต ตัวแทน และภาคอุตสาหกรรม จนเกิดเป็น ‘ระบบเกษตรพันธะสัญญา’ที่สร้างรายได้ และความยังยืนให้เกษตรกร
โดยเขาเล่าย้อนกลับถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่เส้นทางเผ็ดร้อนนี้ว่า ภายหลังเรียนจบในปี 2530 จากรั้วมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ และกลับบ้านเกิดที่จังหวัดสุโขทัยมาเปิดธุรกิจ คือ หจก. สุโขทัยการเกษตรภัณฑ์ จำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
เขาตั้งเป้าว่าจะต้องทำบางอย่างเพื่อทำให้อาชีพเกษตรที่เป็นอาชีพส่วนใหญ่ของคนที่นี่ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยนำองค์ความรู้ไปช่วยในด้านการพัฒนาผลผลิตให้แก่เกษตรกร
คุณยศวัฒน์ วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การเกษตรก้าวหน้า นั่นคือองค์ความรู้ ฐานรากขับเคลื่อนผลผลิตให้มีความ ‘สอดคล้อง’ ต่อความต้องการของตลาดและเป็นไปตามมาตรฐานกลไกตลาดที่แท้จริง ซึ่งตลาดที่แท้จริงย่อมไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง และเป็นภาคอุตสาหกรรมที่นำวัตถุดิบไปแปรรูปและส่งออกในมูลค่าที่สูง นี่จึงเป็นที่มาของรูปแบบ ‘เกษตรอุตสาหกรรม’
“จากการที่ทำธุรกิจขายปัจจัยการผลิตในภาคเกษตร จึงได้มีโอกาสพบเจอพูดคุยกับเกษตรกรเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อรู้ถึงปัญหาที่เกษตรกรกำลังประสบ เราถือนโยบาย รับปัญหา..ใกล้ชิดผูกมิตร”
‘อู่พริก’ จุดเริ่มต้นเกษตรอุตสาหกรรม
คุณยศวัฒน์ กล่าวว่า บรรดาพืชทั้งหมด ‘พริก’ เป็นพืชเศรษฐกิจที่เติบโตเร็ว และยังเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถแปรรูปและส่งออกไปทั่วโลก แต่เกษตรกรที่ปลูกพริกแบบเดิมยังขาดทั้งองค์ความรู้ด้านการตลาด และกลไกสำคัญที่เขามองว่าการจะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้ราคาดี ต้องผลิตให้ได้คุณภาพ มีปริมาณที่มากพอต่อความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงเวลา ทำให้เล็งเห็นถึงระบบการประกันราคา หรือการทำเกษตรแบบพันธะสัญญา (Contract Farming) และรวมกลุ่มกันในชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นเครือข่ายเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
‘พริก’ ผลผลิตชนิดแรกที่เขาตั้งว่าจะช่วยทำให้ชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้น โดยมีการร่วมกับเอกชนทำวิจัยพันธุ์พริก ‘ซูเปอร์แม่ปิง 8000’ ซึ่งให้ผลผลิตสูง นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการผลิตพริกเหลืองเพิ่มเติมซึ่งมีมูลค่ามากกว่าพริกแดง เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดีและมีปริมาณตรงตามความต้องการตลาด
รวมทั้งได้เปิดโรงงานแปรรูปพริก โดยมีเครื่องจักรขนาดเล็กมุ่งเน้นแปรรูปจากวัตถุดิบ รูปแบบอุตสาหกรรมขนาดเล็กในชุมชน และเริ่มต้นรวมกลุ่มเกษตร 4-5 ราย ในปี 2546 โดยมีเขาเป็น ‘ส่วนเชื่อม’ ระหว่างเกษตรกรและตลาด
ต่อมาได้มีการไปติดต่อกับผู้รับซื้อพริกโดยตรง อาทิ โรงงานซอสปรุงรสต่างๆ ที่มีตลาดในประเทศและต่างประเทศ ที่มีความต้องการวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม แต่ต้องปลอดสารเคมีตกค้าง ปลอดภัยตามมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรซึ่งยากมากในตอนนั้น
จึงต้องมีการถ่ายทอดความรู้สมัยใหม่ในการทำเกษตร คุณภาพของวัตถุดิบมีส่วนสำคัญกับราคา ดังนั้นจึงมีคู่มือสำหรับเกษตรที่ปลูกพริก เพื่อให้ได้มาตรฐานที่โรงงานต้องการ และโรงงานจะมีการประกันราคาผลผลิตล่วงหน้า เพื่อประกันรายได้และความเสี่ยงให้เกษตรกร
“ผมจะทำหน้าที่เชื่อมโยง เพื่อรับฟังเเละแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นความธรรมเเก่ทั้งสองฝ่าย ปรับความเข้าใจทั้งสองฝ่าย ว่ากติกาที่ตั้งขึ้นมามีความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย ที่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้เพราะความเชื่อใจที่เห็นว่าผมทำจริง รับซื้อจริง สร้างรายได้ให้เกษตรเพิ่มขึ้นได้จริง ”
ระบบประกันราคา และขับเคลื่อนกลไกตลาด
ความเชื่อมั่นและเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญในการทำการค้า คุณยศวัฒน์ เล่าว่า การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับทั้งสองฝ่าย โดยให้ทั้งสองฝ่ายพอใจในข้อเสนอ จึงเกิดพันธะเกษตรสัญญาราคาล่วงหน้าขึ้นจากความเชื่อใจ เกษตรที่จะทำแบบนี้ได้ก็ต้องไม่ขายผ่านตลาดกลาง แต่ขายตรงให้กับโรงงานผู้ผลิตเลย นับเป็น Contact Farming ในยุคแรกเลยก็ว่าได้ และกล่าวได้ว่าเป็นการริเริ่มทำ ‘เครือข่ายเกษตร’ เพื่อป้อนวัตถุดิบให้ภาคอุตสาหกรรมโดยตรง
ด้านกลไกตลาดและราคาที่ควบคุมได้ยากของตลาดกลางสินค้าเกษตรแบบเดิมๆ ทำให้เห็นว่า การสร้างระบบประกันราคาสินค้าให้เเก่เกษตรกร โดยทางเกษตรกรจะได้รับราคาสินค้าที่ยุติธรรมตามสัญญา เช่นเดียวกับโรงงานผู้รับซื้อผลผลิต ที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกร ตั้งแต่สายพันธุ์ จัดหาเมล็ดพันธุ์ การดูแลและควบคุณคุณภาพผลผลิต ปราศจากสารเคมีตกค้าง หรือสารต้องห้ามต่างๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโรงงานมากที่สุดและส่งออกได้
“เกษตรกรที่อยู่ในโครงการประกันราคาต้องปฏิบัติตามที่กำหนด ตั้งแต่การปลูก การดูแล และการใช้ยาฆ่าแมลง แม้แต่การเก็บเกี่ยว ซึ่งต้องอยู่ในระยะที่ปลอดภัย ที่สำคัญยังต้องมีการประเมินเรื่องวัตถุดิบล้นตลาด ดังนั้นการวางแผนเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตจึงต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ”
คุณยศวัฒน์ ในฐานะผู้นำกลุ่ม มีบทบาทสำคัญ คือต้องสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในด้านต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของสายพันธุ์ การเตรียมดิน การที่จะปลูกช่วงไหนที่จะทำให้มันออกผลผลิตมาตรงช่วงเวลาที่ความต้องการ ว่าปลูกช่วงไหนทำให้มันออกมาดี มีคุณภาพ และลดความเสี่ยงกับปัญหาภัยธรรมชาติ
“เกษตรยุคนี่ ต้องไม่ลองผิดลองถูก เพราะถ้าลองผิดลองถูกอาจจะต้องล้มเหลวอยู่ดี ดังนั้นองค์ความรู้ต้องแน่น”
บทพิสูจน์ ‘เครือข่ายเกษตร’ โตได้ยั่งยืน
ปัจจุบัน คุณยศวัฒน์ มีเครือข่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มประกันราคากว่า 500 ครอบครัว ครอบคลุมภาคกลางตอนบน มีพื้นที่เพาะปลูกรวมทุกกลุ่มกว่า 1 พันไร่ มีกำลังผลิตกว่า 5 พันตันต่อปี และทำสัญญาประกันราคาไว้กับหลายโรงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีตลาดในประเทศและส่งออกต่างประเทศ
ถึงตอนนี้เขามองว่า ความเข็มแข็งของเครือข่ายเกษตรในปัจจุบันเรียกได้ว่า เป็นกลุ่มที่ผลิตพริกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ ทั้งยังเกิดเป็นดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้น จากการต้องการพริกที่มีคุณภาพและมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต
ยิ่งไปกว่านั้นยังสร้างความภาคภูมิใจให้เกษตรกรกลุ่มปลูกพริก ที่สามารถก้าวผ่านวงจรตลาดในรูปแบบเดิมๆ สู่การเป็นเกษตรกรที่สามารถ ‘ขายซอสพริกไปต่างประเทศ’ เพราะมาถึงจุดที่เกษตรกรมองว่า โรงงานผลิตคือหุ่นส่วนทางธุรกิจ ที่แปรรูปผลผลิตคุณภาพซอสพริกที่เขาตั้งใจปลูกด้วยแรงกายไปสู่ห้องครัวทั่วโลก ความสำเร็จจากการรวมซัพพลายเชนทั้งหมดเข้าด้วยกัน ที่สำคัญยังมีส่วนในด้านการลดต้นทุนในแปลงเกษตรอีกด้วย
ในส่วนของ คุณยศวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มเชื่อมโยงซัพพลายเชนของพริก ได้มองอนาคตของกลุ่มเกษตรไปถึงจุดที่ ‘พริก’ จะสามารถสร้างเป็นรายได้หลังเกษียณของเกษตรกรในกลุ่ม สามารถจ่ายเป็นเงินบำนาญให้กับเกษตรกร และเป็นบทพิสูจน์ว่าอาชีพเกษตรกรไม่ได้จะต้องยากจน แต่เป็นอาชีพที่สร้างรายได้มั่นคง เกิดความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก
รวมทั้งที่ผ่านมามีโรงงานผลิตซอสในหลายประเทศ ได้ติดต่อมาเพื่อให้กลุ่มผลิตและแปรรูปพริกส่งออกในลักษณะรับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญในอนาคตที่พริกไทยจะเป็นของคู่ครัวของคนทั่วโลก นี่จึงสิ่งที่ยืนยันได้ถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ที่ต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 20 ปี
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<