Boao Forum for Asia ครั้งแรกในไทย: มุ่งสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียสู่ความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ : จีนและพันธมิตร 26 ประเทศ จัดประชุม Boao Forum for Asia (BFA) Bangkok Roundtable ที่ประเทศไทย ถือเป็นการจัดประชุมครั้งแรกนอกประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Future of the World: from the Perspective of Asia” หรือ "อนาคตของโลก: มุมมองจากเอเชีย" เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการผนึกกำลังและการพัฒนาร่วมกันมากระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย การประชุมครั้งสำคัญนี้มีนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานด้วยการอ่านสารแสดงความยินดีจากท่าน หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน พร้อมด้วยนายบัน คีมูน ประธาน BFA และอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ นายจาง จุน เลขาธิการ BFA นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย พร้อมทั้งผู้นำระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างคับคั่ง ในการเร่งหาทางออกและโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาครับความท้าทายโลก สำหรับบุคคลสำคัญจากประเทศไทยที่ได้รับเชิญร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นครั้งสำคัญนี้มีอาทิ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย สมาชิกสภาที่ปรึกษาของ BFA อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการแห่งประเทศไทย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาจีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ส่วนบุคคลสำคัญในต่างประเทศที่เข้าร่วมเวที BFA ที่ประเทศไทยมี อาทิ นายโวลคาน บอซเคียร์ อดีตประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 75 นายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย นายออง ที เกียต อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภาของมาเลเซีย และ นายโบลัต นูร์กาลีเยฟ ประธานคณะกรรมการ สถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐคาซัคสถาน เป็นต้น
การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งได้กล่าวเปิดงานด้วยการอ่านสารแสดงความยินดีจาก ท่านหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน นอกจากนี้ นายบัน คีมูน ประธาน Boao Forum for Asia และอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ได้ร่วมกล่าวสรุปปิดการประชุม
ในการนี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน: สู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของเอเชีย" โดยนายธนินท์ได้เน้นถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในภาคการเกษตรและการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ประธานอาวุโส เครือซีพี ยังกล่าวถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรและเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในเอเชีย ทั้งนี้นายธนินท์มองว่า กุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียคือ ต้องมุ่งเน้น "พัฒนาคน" เพราะต่อให้มีเทคโนโลยีที่ดีแค่ไหน ก็ต้องใช้คนในการขับเคลื่อนซึ่งเอเชียมีประชากรมากกว่า 4 พันล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่และมีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก ควรมีการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการและคนที่มีความสามารถตลอดจนต้องดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาลงทุนทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในตอนนี้โลกจะเผชิญความท้าทายหลายด้าน แต่ทั้งนี้เชื่อว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
สำหรับ Boao Forum for Asia (BFA) เป็นการประชุมระหว่างประเทศที่จัดขึ้นโดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นแกนนำ พร้อมด้วยความร่วมมือของ 26 ประเทศในเอเชียและออสเตรเลีย โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Boao มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน การประชุมนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศในเอเชียและทั่วโลก โดยเป็นเวทีสำหรับผู้นำทางการเมือง ธุรกิจ และนักวิชาการในการหารือเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในบริบทของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้เวทีดังกล่าวได้รับการขนานนามว่าเป็น "Davos of the East" เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกับ World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้นในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ BFA มุ่งเน้นเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเอเชียและการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง BFA เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้นำระดับสูงทั้งจากภาครัฐบาล ภาคธุรกิจและภาควิชาการในการหารือและแสดงวิสัยทัศน์ ในเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญในภูมิภาคเอเชียและของโลก โดยในปีนี้เน้นประเด็นในการส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการยกระดับเศรษฐกิจให้มีการความพร้อมในการแข่งขันระดับโลก