รีเซต

โบรกฯ หั่นราคา"หุ้นไทย" DELTA-TU-PTTEP เจ็บหนัก แนวรับแรก 1,080 จุด เอาไม่อยู่เสี่ยง 1,000 จุด

โบรกฯ หั่นราคา"หุ้นไทย" DELTA-TU-PTTEP เจ็บหนัก แนวรับแรก 1,080 จุด เอาไม่อยู่เสี่ยง 1,000 จุด
TNN ช่อง16
8 เมษายน 2568 ( 11:15 )
27

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มอง SET Index ผันผวนเชิงลง ชดเชย Black Monday โดยประเมินแนวรับแรกบริเวณ 1,080 จุด หรือ Downside อีกราว 4% ซึ่งถือว่าดีกว่าทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาคเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจาก SET Index Underperform มาค่อนข้างมากตั้งแต่ต้นปี

ประกอบกับการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างรวดเร็วช่วยจำกัด Downside ของ SET Index อย่างไรก็ดี ในเชิงกลยุทธ์มองว่าความเสี่ยงยังคงสูงในสัปดาห์นี้ แนะนำถือเงินสดรอ หรือพักเงินในกลุ่ม Defensive Play เช่น โรงไฟฟ้า, สื่อสาร และ REIT

ในขณะเดียวกันยังได้ปรับลดราคาเป้าหมายหุ้นดังนี้

DELTA ปรับลดราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2025 เหลือ 45 บาทต่อหุ้น จากเป้าหมายเดิม 78 บาท อิง PER 31.0x และปรับลดคำแนะนำเป็น “ขาย” คาดกำไรปกติ 1Q25 ที่ 3.5 พันล้านบาท (+72% QoQ, -7% YoY) กำไรปกติที่เพิ่มขึ้น QoQ จากฐานต่ำใน 4Q24 ที่มีรายการพิเศษกดดันจำนวนมาก กำไรที่ไม่เติบโต YoY มาจากแรงกดดันด้านภาษี Global Minimum Tax เป็นไตรมาสแรก ผลกระทบจากสงครามการค้า คาดอัตราเติบโตจะชะลอตัวลงจากนี้ DELTA มีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งทางตรง และทางอ้อมราว 30-35% และสินค้าหลักคือ Data Center ที่มีโอกาสชะลอตัวจากนโยบายภาษีที่รุนแรงทำให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่อาจเลือกชะลอโครงการด้าน นวัตกรรมที่ยังไม่จำเป็นในระยะสั้นไปก่อน

PTTEP ปรับลดราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2025 เหลือ 132 บาทต่อหุ้น จากเป้าหมายเดิม 158 บาท คาดกำไรสุทธิ 1Q25 จะทำได้ 1.7 หมื่นล้านบาท -9% QoQ และ -11% YoY ถือว่าสอดคล้องกับมุมมองก่อนหน้า ภาพรวมผลประกอบการจะลดลง YoY จาก Margin ถูกกดดันด้วยต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น สวนทางการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบดูไบ ตลาดน้ำมันมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะจากผลกระทบมาตรการภาษี Reciprocal Tax ของสหรัฐฯ ที่รุนแรงกว่าคาด จะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และความต้องการใช้น้ำมันดิบชะลอตัว

TU ปรับลดราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2025 เหลือ 10.80 บาทต่อหุ้น จากเป้าหมายเดิม 13.20 บาท มองราคาหุ้นจะยังกดดันจาก Trade War รวมถึงความเสี่ยงด้านปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว คาดกำไรปกติ 1Q25 ที่ 596 ลบ. (-48.6% QoQ -31.5% YoY) อ่อนแอกว่าเดิมที่ประเมินไว้ โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน, และปริมาณขายกลุ่มอาหารทะเลแปรรูป (Ambient) ชะลอลง หลังราคาทูน่าปรับขึ้นทำให้ลูกค้าบางส่วนชะลอคำสั่งซื้อ ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ 37% ถือว่าสูงกว่าที่บริษัท และตลาดคาดไว้ โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนยอดขายใน US ราว 40% โดยมีโรงงานในหสรัฐฯ ช่วยชดเชยผลกระทบได้บางส่วน อย่างไรก็ตามกำลังการผลิตในสหรัฐฯ ยังไม่สามารถชดเชยกำลังการผลิตในไทย และอินเดียที่ส่งออกไปสหรัฐฯได้ทั้งหมด

ในขณะที่บล.เกียรตินาคินภัทร (KKP) ออกรายงานกลยุทธ์การลงทุนประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 68 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ (policy panic)

ตลาดหุ้นถูกปัจจัยมหภาคกดดันต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไทยหากไม่นับภาคการท่องเที่ยว อยู่ในภาวะถดถอยติดต่อกัน 9 ไตรมาส EPS และ GDP ยังโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตระยะยาวตั้งแต่ช่วงโควิด นโยบายการเงินที่ตึงตัวและประสิทธิผลของนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดลง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่มีผลตอบแทนแย่ลงในปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายในมากกว่าปัจจัยภายนอกอย่างเรื่องแรงกดดันด้านภาษีศุลกากรเหมือนที่ประเทศอื่น ๆ เช่น จีน แคนาดา สหภาพยุโรป และเวียดนามกำลังได้รับผลกระทบ

บล.เกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าดัชนี SET อาจร่วงลงไปที่ 1,000 จุด จากความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (growth shock) ในไตรมาส 2/68 อาทิ การท่องเที่ยวที่อ่อนแอ การส่งออกที่ถูกท้าทายจากแรงกดดันจากมาตรการภาษี ภาคการบริโภคที่อ่อนแอ และการลงทุนที่ซบเซา ในขณะที่แรงหนุนเดียวที่อาจช่วยพยุงตลาดได้คือ การที่นักลงทุนกลับเข้าซื้อเมื่อมูลค่าตลาด (valuation) อยู่ในระดับที่ถูกเกินไปหากเทียบกับมูลค่าพื้นฐานซึ่งประเมินว่าอยู่ที่ระดับ P/E 10-11 เท่า หรือที่ดัชนี SET 1,000 จุด หรือการที่ผู้กำหนดนโยบายออกมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วนและเร็วกว่าที่คาด

นอกจากนี้ คาดว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วงกลางปี อาจช่วยให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยายตัว (yield curve steepening) และหนุนดัชนี SET ได้ แต่จนกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะชัดเจน แนะนำให้เน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นปลอดภัย ได้แก่

- โรงพยาบาล (BCH, PR9, BDMS, BH) ซึ่งมีการเติบโตที่แข็งแกร่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ

- กลุ่มโทรคมนาคม (TRUE, ADVANC) ที่ได้รับประโยชน์จากปัจจัยสนับสนุนของการควบรวมในอุตสาหกรรม

- กลุ่มธนาคาร (KBANK, SCB) ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลและการบริหารเงินทุนที่ดี

อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 เมษายน 2025 จะเป็นวันสำคัญสำหรับการประชุม กนง. ซึ่งอาจมีนโยบายเร่งด่วนออกมา หากเกิดขึ้นจริง อาจเกิดแรงหมุนเวียนจากหุ้นปลอดภัยไปสู่หุ้นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับประโยชน์ เช่น

- หุ้นที่มีภาระหนี้สูง (AWC, ERW, IRPC, GPSC) ซึ่งจะได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มแรก

- กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก อุตสาหกรรมที่อิงกับการบริโภค (รวมถึงสื่อ) สินเชื่อนอกระบบ และอสังหาริมทรัพย์

ดัชนี SET ยังมีโอกาสปรับตัวลงต่อ เนื่องจาก P/E ปัจจุบันที่ 12.2 เท่า ยังคงสูงกว่าระดับ 10-11 เท่าที่จะถือว่า "ถูกจริง" ดังนั้น บล.เกียรตินาคินภัทรคาดว่าความผันผวนจะยังสูง โดยเฉพาะในไตรมาส 2/68 ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น การเจรจาภาษี ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และตัวเลขการเติบโตของ GDP ที่อาจกดดันให้ภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น นักลงทุนควรติดตามปัจจัยมหภาคอย่างใกล้ชิด และปรับกลยุทธ์ตามภาวะตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในปี 68.

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง