พืชก็เครียดได้และส่งเสียงดังเป็นจังหวะคลิก ๆ แบบอัลตราโซนิก
วันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการ ลิลัค ฮาดานี (Lilach Hadany) นักชีววิทยาวิวัฒนาการและนักทฤษฎีแห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เปิดเผยผลการวิจัยล่าสุดพบว่าพืชก็เครียดได้และส่งเสียงดังเป็นจังหวะคลิก ๆ แบบอัลตราโซนิกจากต้นมะเขือเทศแห้งและใบยาสูบ โดยเขาเผยแพร่รายงานดังกล่าวบนเว็บไซต์เซลล์ (Cell)
การค้นพบครั้งนี้มีประโยชน์ต่อการเกษตรอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมันเป็นประตูไปสู่การทำความเข้าใจวิธีการให้น้ำที่เหมาะสมของพืชโดยการฟังเสียงที่พืชปล่อยออกมาเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างพืชกระหายน้ำและพืชสมบูรณ์ได้เวลาเก็บผลผลิต
นักวิจัยลิลัค ฮาดานี ได้ใช้ไมโครโฟนแบบพิเศษทดสอบบันทึกเสียงในห้องปฏิบัติการอะคูสติกเก็บเสียงและห้องเรือนกระจกเพื่อนบันทึกเสียงต้นไม้ที่หูของมนุษย์ไม่สามารถได้ยินได้ ทีมงานค้นพบว่าพืชที่ส่งเสียงออกมาบ่อยจะเป็นลักษณะของพืชที่ต้องการน้ำ ส่งเสียงคลิกประมาณ 30 ถึง 50 ครั้ง ต่อชั่วโมง ส่วนต้นไม้ที่ได้รับน้ำสมบูรณ์จะส่งเสียงออกมาน้อยกว่า นอกจากนี้ยังค้นพบว่าต้นมะเขือเทศที่ถูกตัดที่ก้านจะมีเสียงดังน้อยกว่าเล็กน้อย
นอกจากการทดลองกับต้นมะเขือเทศแห้งและใบยาสูบ นักวิจัยได้ทำการทดสอบกับต้นพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี องุ่น และต้นกระบองเพชร โดยสามารถตรวจพบเสียงในลักษณะคล้าย ๆ กันเมื่อพืชขาดน้ำ
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยในลักษณะเดียวกันโดยอเล็กซานเดร โปโนมาเรนโก (Alexandre Ponomarenko) นักฟิสิกส์จากบริษัท เทคโนโลยีชีวภาพ NETRI เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ที่ตรวจพบเสียงจากต้นสนในห้องแล็บ
สำหรับสาเหตุที่พืชส่งเสียงออกมาในลักษณะดังกล่าวนักวิจัยเชื่อว่าอาจเกิดจากระบบการไหลเวียนของน้ำในลำต้นพืชเกิดความผิดปกติเนื่องจากขาดน้ำเลี้ยงจากภายนอก อย่างไรก็ตามนักวิจัยยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพืชส่งเสียงเหล่านี้ออกมาเพื่อสื่อสารกับพืชต้นอื่น หรือการส่งเสียงเตือนให้กับแมลงได้หรือไม่ ยังคงเป็นต้องรอการวิจัยทดสอบต่อไป
ที่มาของข้อมูล
Interesting Engineering
Cell
ที่มาของรูปภาพ
Sciencenews