รีเซต

Antigen Test Kit คลาดเคลื่อน 3% จ่อฟัน รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินแลกเตียงโควิดล่วงหน้า

Antigen Test Kit คลาดเคลื่อน 3% จ่อฟัน รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินแลกเตียงโควิดล่วงหน้า
TNN ช่อง16
22 กรกฎาคม 2564 ( 15:35 )
67
Antigen Test Kit คลาดเคลื่อน 3% จ่อฟัน รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินแลกเตียงโควิดล่วงหน้า

วันนี้ (22 ก.ค.64) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุถึงแนวทางการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเองว่า สืบเนื่องตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมและมีนโยบายที่จะใช้ชุดตรวจอย่างรวดเร็วมาตรวจคัดกรองกรณีที่มีผู้ป่วยสงสัยเข้าข่ายติดเชื้อ   

 

 

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง สปสช.ร่วมกับกรุงเทพมหานคร นำร่องตรวจในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ 50,000 กว่าราย พบผลบวก ร้อยละ 10 และได้นำผลบวกดังกล่าวไปเทียบเคียงการตรวจมาตรฐาน RT-PCR พบผลตรวจผิดพลาดไม่เกินร้อยละ 3 เบื้องต้นชุดตรวจด้วยตัวเองถือว่าใช้ได้ผลดี 

 

 

สัปดาห์นี้ ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติขยายให้มีการเพิ่มชุดตรวจให้กับประชาชนมากขึ้นในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้นำไปตรวจเอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างจัดหา และทางทีมวิชาการโดยกรมควบคุมโรคกำลังวางแผนในการกระจายการชุดตรวจให้ประชาชน 

 

 

หากผลบวกจะนำเข้าระบบการรักษาตัวที่บ้าน หากเป็นกลุ่มเสี่ยงจะรับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หากมีอาการมากขึ้นจนแย่ลงจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาโรงพยาบาลต่อไป 

 

 

เบื้องต้นได้ประชุมสื่อสารกับคลินิกชุมชนอบอุ่น 200 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ที่จะเริ่มทยอยตรวจด้วยชุดตรวจด้วยตัวเองแก่ประชาชน ซึ่งจุดเด่นของชุดตรวจนี้ ไม่จำเป็นต้องตรวจในโรงพยาบาล สามารถตรวจได้ทีหน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ เมื่อวานนี้ 21 ก.ค.ได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ ทยอยการตรวจให้กับประชาชนในกลุ่มเสี่ยง

 

 

ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ทรงคุณวุฒิโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเองถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยดูแลคัดกรองเชื้อประชาชนที่สามารถให้ผลได้เร็วประมาณ 15 นาที ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ตามชุมชน สอนให้ประชาชนได้ใช้ชุดตรวจด้วยตัวเองภายในชุมชน โดยชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ขณะนี้เริ่มกระจายขายในร้านขายยาแล้ว 

 

 

สำหรับการตรวจด้วยวิธีนี้ ยังไม่จำเป็นจะต้องตรวจทุกคน เช่น ในชุมชนมีประชากร 200 คน ไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจทั้งหมด ส่วนใครที่จะต้องทำการตรวจนั้น ได้แด่

 

 

1.กลุ่มเสี่ยง ที่มีการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้

 

 

2.ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ แต่มีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ จาม มีน้ำมูก ชุดตรวจดังกล่าวจะมีประโยชน์ เพราะทำให้สามารถเข้าถึงการตรวจโควิดได้ 

 

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลจะออกมาเป็นลบ สถานการณ์ขณะนี้ที่มีการแพร่ระบาดสูงอย่างต่อเนื่อง ยังคงต้องปฏิบัติตนตามมาตรการสาธารณสุข ส่วนกรณีผลตรวจเป็นบวก สายด่วนสำคัญที่จะต้องประสาน คือ 1330 เพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา 

 

 

ส่วนการตรวจภายในหน่วยตรวจเชิงรุกหรือสถานพยาบาลที่เข้าไปตรวจให้กับประชาชนในพื้นที่ แล้วพบผลบวก ทางทีมแพทย์ พยาบาล จะประเมินอาการว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเข้าสู่สถานพยาบาลหรือไม่ หรือการประเมินเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาตัวที่บ้าน หรือเข้าสู่ระบบการรักษาดูแลภายในชุมชน 

 

 

โดยกลุ่มที่ตรวจแล้วผลเป็นบวก ก่อนเข้าสู่สถานพยาบาลต่างๆ จะมีการตรวจยืนยันด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ส่วนประชาชนที่ใช้ชุดตรวจคัดกรองโควิดด้วยตัวเอง แล้วมีการประเมินตัวเองว่ามีความเสี่ยงหรือมีอาการแล้วได้ผลลบในครั้งแรก สามารถที่จะตรวจซ้ำอีกครั้ง ในช่วง 3-5 วันหลังจากตรวจครั้งแรก ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ จะต้องป้องกันตัวเองและป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนอื่น 

 

 

ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช.ได้เตรียมยาฟาวิพิราเวียร์และฟ้าทะลายโจร รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ซึ่งจัดเตรียมเป็นชุด จะทยอยส่งให้ประชาชนที่ทำการรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนติดเชื้อที่มีอาการไม่มาก ยืนยันเครื่องมือต่างๆ การบริหารจัดการมีเพียงพอที่จะส่งให้กับประชาชน

 

 

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง เรียกรับเงินจากผู้ป่วยติดเชื้อล่วงหน้า เพื่อแลกกับเตียงรักษาในโรงพยาบาล นพ.รุ่งเรือง ระบุว่า เรื่องดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขรับทราบแล้วและจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด 

 

 

โดยขณะนี้ภาพรวมสถานการณ์เตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 70 จะอยู่ในส่วนของภาคเอกชน ขณะที่ร้อยละ 30 อยู่ในส่วนหน่วยบริการของรัฐ ดังนั้นในส่วนของภาคเอกชน ร้อยละ70 เหตุการณ์ดังกล่าวจะต้องไม่มีการเกิดขึ้น หากประชาชนเจอปัญหาดังกล่าวสามารถร้องเรียนมายังสายด่วนของกระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงสาธารณสุขจะไม่ยอมให้มีการเรียกรับเงินเพื่อแลกเตียงรักษาเด็ดขาด

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง