ผู้เชี่ยวชาญเผยไทยยังไม่มีเทคโนฯสกัด ‘ลิเทียม’ พร้อมใช้งาน
กรมทรัพยากรธรณี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคำนวนปริมาณแร่ลิเทียม ว่า แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบคำนวณจากปริมาณของทรัพยากรที่พบทั้งหมด (geological resource) และแบบคำนวณจากปริมาณที่สามารถสกัดและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง (mineable reserve) ซึ่งการพบแร่ลิเธียมกว่า 14 ล้านตัน ในจังหวัดพังงาเป็นการพูดถึงปริมาณของทรัพยากรที่พบทั้งหมด (geological resource) เนื่องจากตัวแร่ยังไม่ผ่านการสกัด ซึ่งในขั้นตอนการสกัดแม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วย แต่ต้องผ่านหลายกระบวนการมีต้นทุนสูง และประเทศไทยเองยังไม่มีเทคโนโลยีสกัดในการสกัดแร่ลิเทียม
นายธวัชชัย เชื้อเหล่าวานิช ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐาน และข้อมูลทรัพยากรแร่ รักษาการในตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยและพัฒนาธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคำนวณปริมาณของแร่ ตามหลักแล้วจะแยกการคำนวณออกเป็น 2 แบบ คือ คำนวนโดยรวมปริมาณของทรัพยากรที่พบทั้งหมด และคำนวณจากปริมาณสำรอง หรือ ปริมาณที่สกัดออกมาแล้วและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งแร่ลิเธียมกว่า 14 ล้านตัน เป็นการพูดถึงทรัพยากรที่พบทั้งหมดเพราะยังไม่ผ่านการสกัดแยกชนิดของแร่ออกมาว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน
ที่ผ่านมาขั้นตอนการจะสกัดแร่ออกจากทรัพยากรที่พบ เพื่อคำนวณปริมาณที่สามารถนำไปใช้ได้จริง มีหลายขั้นตอนต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสกัด โดยเริ่มจากการทำเหมือง เพื่อนำแร่มาบดย่อยลดขนาดให้ออกมากลายสภาพเป็นหัวแร่ และนำหัวแร่ไปสกัดแยกลิเธียมออกมาอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันถึงจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ในประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีสำหรับสกัด มีเพียงเทคโนโลยีสำหรับแต่งย่อยให้เหลือแต่หัวแร่ของลิเทียม
นายธวัชชัย ระบุด้วยว่า การพบแร่ลิเทียมภายในประเทศ คือความหวังที่ไทยจะได้ใช้ประโยชน์ในการนำมาผลิตเป็นพลังงานยานยนต์ไฟฟ้า และสามารถทำได้แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุน ซึ่งหากมองในเชิงของวิชาการ จะต้องดูหลายปัจจัยประกอบร่วม เช่น ความจำเป็นต้องการใช้และไม่สามารถนำเข้าจากประเทศอื่นได้ ผลิตออกมาแล้วจะสู้กับราคาตลาดโลกได้หรือไม่ เพราะมีราคาผันผวนขึ้น-ลง รวมถึงขึ้นอยู่กับกำลังการลงทุนของผู้ประกอบการบริษัทที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการสกัดแร่ลิเทียมด้วย
ภาพจาก: AFP