“หุ้นไทย” เข้าสู่ “ตลาดหมี” แล้วหรือยัง ?

ดัชชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET Index ในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดคำถามว่า “ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ตลาดหมี” หรือ Bear Market แล้วหรือยัง
ภาพรวมสภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกจะมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงได้ตามปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามามีผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตลาดหลักทรัพย์
ทำให้มีการนิยามสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ออกมาหลัก ๆ เป็น 2 ลักษณะคือ “ตลาดกระทิง” หรือ Bull Market และ “ตลาดหมี” หรือ Bear Market ซึ่งทั้ง 2 ตลาดนี้จะมีความแต่งต่างของสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเราจะให้ความสำคัญกับตลาดหมี ด้วยประเด็นที่ว่าตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ตลาดหมีอย่างเต็มตัวแล้วหรือยัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับภาวะตลาดหมี หรือ Bear Market กันว่ามีลักษณะอย่างไร ตลาดหมีคือสภาวะที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าจุดสูงสุดอย่างน้อย 20% ซึ่งมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับความอ่อนไหว หรือไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อการลงทุน มูลค่าการซื้อขายน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลัก ๆ มาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ หรือไม่มีความแน่นอน
โดยข้อมูลจาก Corporate Finance Institute มีการระบุสภาวะของ Bear Market โดยทั่วไปจะมี 4 ขั้นด้วยกัน โดยในขั้นแรกจะเรียกว่า “Recognition” ซึ่งถือว่าเป็นระยะแรกที่นักลงทุนยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุน ในขณะที่ราคาหุ้นยังอยู่ในระดับที่แพง โดยในช่วงต้นนักลงทุนจะยังไม่สังเกตว่าตลาดกำลังจะเข้าสู่ Bear Market แต่คิดว่าความผันผวนของราคาที่เกิดขึ้นเป็นการแกว่งตัวเพียงเท่านั้น จนราคาเริ่มแกว่งตัวในแดนลบต่อเนื่อง ก็จะเข้าสู่ช่วงท้ายของ Recognition ที่นักลงทุนเริ่มมีความไม่แน่ใจ และเริ่มมีการเทขายหุ้นออกมา
ถัดไปจะเป็นขั้น “Panic” จะเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนไม่มีความมั่นใจในการลงทุน เนื่องจากเริ่มเห็นความชัดเจนของ Bear Market ทำให้มีการเทขายหุ้นออกมาอย่างรุนแรง และแรงซื้อหุ้นเริ่มหายไป จะเป็นช่วงที่ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
ขั้นต่อมาก็จะเข้าสู่ Stabilization ซึ่งจะเป็นช่วงที่ดัชนีเริ่มนิ่ง ไม่มีแรงขาย Panic จนทำให้ดัชนีลดลงอย่างรุนแรง นักลงทุนจะเริ่มใช้เหตุผลในการลงทุนมากขึ้น เริ่มมองหาปัจจัยพื้นฐาน และหุ้นที่มีผลกระทบจำกัดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นที่มีพื้นฐานดี ได้รับผลกระทบจำกัด และยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ ซึ่งในขั้นนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดของ Bear Market เนื่องจากการปรับฐาน หรือสร้างฐานของราคาหุ้นนั้น จะอยู่บนความไม่มั่นใจของนักลงทุนว่า ดัชีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในระดับต่ำสุด หรือเกิดการพักฐานอย่างสมบูรณ์แล้วหรือไม่
และขั้นสุดท้ายคือ Anticipation เป็นช่วงที่หุ้นสร้างฐานได้อย่างสมบูรณ์แล้ว หุ้นหลาย ๆ ตัวมีราคา หรือ P/E ที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน และสถานการณ์ หรือปัจจัยลบต่าง ๆ เริ่มมีทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีข่าวดีทยอยเข้ามาสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ดัชนีหลักทรัพย์ก็จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา
ซึ่งเมื่อ Bear Market ผ่านพ้นทั้ง 4 ขั้นไปแล้ว และสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม หรือปัจจัยต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะมีโอกาสเปลี่ยน Bear Market กลายเป็น Bull Market ในระยะถัดไป
แล้วตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ Bear Market เรียบร้อยแล้วหรือยัง และปัจจุบันอยู่ในขั้นไหน
สามารถตอบได้ในลักษะณะนี้ว่า ถ้านับจากจุดสูงสุดของ SET Index ที่ประมาณ 1,500 จุด เมื่อเดือนตุลาคมปี 2567 จนถึงปัจจุบันนั่นหมายความว่าหาก SET Index ปรับตัวลดลง 20% ก็จะเข้าสู่ Bear Market ซึ่งก็จะคิดเป็นดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1,200 จุด และมูลค่าการซื้อขายเบาบางต่อเนื่อง ก็ต้องบอกว่า SET Index เข้าสู่ Bear Market ในทางทฤษฎีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากความกดดันในเรื่องของผลกระทบจากภาษีศุลกากรตอบโต้จากสหรัฐอเมริกา
ในขณะที่หุ้นไทยอยู่ในขั้นไหนของ Bear Market ก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เมื่อดูจากการเคลื่อนไหวของดัชนีที่เริ่มนิ่ง ไม่มีแรงขายที่รุนแรง ดัชนีเริ่มที่จะเคลื่อนไหวในกรอบไซด์เวย์ และเริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาบ้างในหุ้นบางกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ถูกประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจำกัดจากความกดดันของภาษีสหรัฐฯ และมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ที่ยังสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ และความสามารถในการทำกำไรในระยะถัดไปได้
ก็จะอธิบายได้ว่า SET Index อยู่ในขั้นของ Stabilization ที่ดัชนีพยายามที่จะสร้างฐาน แต่ก็อาจจะยังบอกได้ยากว่า SET Index อยู่ในจุดที่ต่ำสุดแล้วหรือยัง เนื่องจากยังคงมีปัจจัยทางเศรษฐกิจ มาตรการในการกระตุ้น หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนเข้ามากดดัน รวมถึงความไม่ชัดเจนในการเจรจาภาษีสหรัฐฯว่าจะเป็นเมื่อไหร่ และจะออกมาในทิศทางใด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของ SET Index ด้วยเช่นเดียวกัน
หลังจากนี้คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจ และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกับการลงทุนจะเป็นอย่างไร แล้วจะมีผลกระทบกับ SET Index มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหลายหน่วยงานของภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็มีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต
ซึ่งเอกชน โดยบริษัทจดทะเบียนก็ถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ก็ล้วนแล้วแต่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ และปรับตัวในแง่ของธุรกิจอยู่เสมอ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่มีความชัดเจน และนั่นก็จะเป็นการพิสูจน์ได้ว่าบริษัทจดทะเบียนไหนจะสามารถผ่าน Bear Market หรือผ่านวิกฤติในครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ