รีเซต

ลงนาม FTA “ไทย-ศรีลังกา” ยุทธศาสตร์“รัฐบาลเศรษฐา”เชื่อมเอเชียใต้

ลงนาม FTA “ไทย-ศรีลังกา” ยุทธศาสตร์“รัฐบาลเศรษฐา”เชื่อมเอเชียใต้
TNN ช่อง16
3 กุมภาพันธ์ 2567 ( 11:05 )
48

“ศรีลังกา” แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กและมีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือ เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ประกอบกับเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น แร่รัตนชาติ แร่แกรไฟต์ และสัตว์ทะเล แต่ในช่วงที่ผ่านมา ศรีลังกา ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ การลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ระหว่างไทยกับศรีลังกาในครั้งนี้ จึงมีนัยสำคัญยิ่ง 



นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า ความพยายามในการผลักดัน FTA ไทย-ศรีลังกา ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และสรุปผลการเจรจาเมื่อเดือน ธ.ค.2566 กระทั่งในวันที่ 30 ม.ค.2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการลงนาม  FTA ไทย-ศรีลังกา  นำมาสู่การลงนาม Thailand - Sri Lanka Free Trade Agreement ในโอกาสที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายรานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา ระหว่างวันที่ 3–4 ก.พ.2567 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย Quick Win ที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 99 วันเเรกของรัฐบาล โดย FTA ไทย–ศรีลังกา จะเป็นความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ และเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของประเทศไทย ซึ่งการลงนามมีขึ้นในวันที่ 3 ก.พ.2567 ณ สำนักเลขาธิการประธานาธิบดี และเป็นการลงนามระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า พาณิชย์ และความมั่นคงทางอาหารของศรีลังกา 



ทั้งนี้ คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าหลายประเภท เช่น ยานยนต์ สิ่งทอ อัญมณี โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็ก กระดาษ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์ เมล็ดข้าวโพด ขณะที่ภาคบริการที่ได้รับประโยชน์ คือ ธุรกิจด้านการเงิน ประกันภัย คอมพิวเตอร์ ก่อสร้าง ท่องเที่ยว และวิจัยและพัฒนา และด้านการลงทุนที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ สาขาการผลิตอาหารแปรรูป การผลิตรถยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การแพทย์

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี และ คณะ จะเข้าประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของศรีลังกา พร้อมการกล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “สำรวจช่องทางตลาดและเปิดประตูการค้าการลงทุนสู่ศรีลังกา” ด้วย



แน่นอนว่า กระทรวงพาณิชย์ ไม่พลาดใช้โอกาสนี้จัดงาน Sri Lanka–Thailand Business Networking ซึ่งเป็นกิจกรรมปฐมฤกษ์ที่เริ่มต้นการคิกออฟใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย-ศรีลังกา ภายในงานมีทั้งมีผู้ประกอบการไทยที่เดินทางไปเข้าร่วมกว่า 20 ราย จาก 7 กลุ่มสินค้าศักยภาพ ได้แก่ อาหาร ผลิตภัณฑ์เกษตร สินค้าสุขภาพ ยานยนต์และชิ้นส่วน วัสดุก่อสร้าง สินค้าครัวเรือน รวมถึงสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ยังมี 4 บริการศักยภาพ ได้แก่ โลจิสติกส์ โรงพยาบาล ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ และพลังงาน  ขณะที่ฝั่งศรีลังกา มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมงานกว่า 70 ราย



หากย้อนไปดูข้อมูลการค้าในปี 2566 พบว่า การค้าระหว่างไทยและศรีลังกามีมูลค่า 415.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกามูลค่า 291.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าสินค้าจากศรีลังกา มูลค่า 124.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูปยาง ผ้าผืน ยางพารา และเคมีภัณฑ์  ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากศรีลังกา คือ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และกาแฟ ชา เครื่องเทศ



ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างแต้มต่อให้กับประเทศต่าง ๆ ในการแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญวิกฤตถดถอยในขณะนี้ ก่อนหน้านี้ประเทศไทย ได้จัดทำ FTA ไปแล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.5 ของมูลค่าการค้าไทยกับประเทศที่มี FTA หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 342,959 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออกมูลค่า 166,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 61.6 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และอีก ร้อยละ 36. ของมูลค่าการค้าไทยกับประเทศที่ไม่มี FTA 



สำหรับ  FTA ที่ประเทศไทยลงนามก่อนหน้านี้ 14 ฉบับ 18 ประเทศ ได้แก่ 

ความตกลงเขตการค้าเสรี ไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA)

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย - นิวซีแลนด์ (TNZCEP)

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA)

ความตกลงการค้าเสรีไทย - อินเดีย (TIFTA)

ความตกลงเขตการค้าเสรี ไทย – เปรู (TPFTA)

ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี (TCFTA)

เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA)

ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA)

ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP)

ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (AKFTA)

ความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA)

ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) 

โดยฉบับล่าสุดคือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งไทยประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา






เรียบเรียงโดย ปุลญดา  บัวคณิศร 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง