รีเซต

สรุปประเด็นสำคัญ 28 ประเทศร่วมลงนามปฏิญญา วิจัยและพัฒนา AI อย่างไรให้ปลอดภัย ?

สรุปประเด็นสำคัญ 28 ประเทศร่วมลงนามปฏิญญา วิจัยและพัฒนา AI อย่างไรให้ปลอดภัย ?
TNN ช่อง16
9 พฤศจิกายน 2566 ( 13:27 )
53
สรุปประเด็นสำคัญ 28 ประเทศร่วมลงนามปฏิญญา วิจัยและพัฒนา AI อย่างไรให้ปลอดภัย ?


เมื่อวันที่ 1 - 2 พฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา ทางสหราชอาณาจักรได้จัดงาน และเป็นเจ้าภาพการประชุม AI Safety Summit ครั้งแรกของโลก เพื่อลงนามในปฏิญญา The Bletchley Declaration วิจัยและพัฒนา AI อย่างปลอดภัย


ในงานนี้ได้มีประเทศร่วมลงนามทั้งหมด 28 ประเทศใหญ่ทั่วโลก (ไม่มีประเทศไทย) ซึ่งประเด็นสำคัญในการลงนามครั้งนี้ โฟกัสไปที่การพัฒนา AI อย่างถูกต้อง ไม่สร้างผลกระทบต่อมนุษย์ในอนาคต โดยระบุว่า การพัฒนา AI ควรได้รับการออกแบบ ปรับใช้ในลักษณะที่ปลอดภัย มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เชื่อถือได้ และต้องมีความรับผิดชอบ

 


สรุปประเด็นสำคัญ 28 ประเทศร่วมลงนามปฏิญญา


การลงนามครั้งนี้จะช่วยให้ทั้ง 28 ประเทศสามารถระบุความเสี่ยง และความปลอดภัยที่เป็นข้อกังวลของ AI ร่วมกัน รวมไปถึงยังสามารถวางนโยบายตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ เพื่อให้การพัฒนา AI มีความปลอดภัยอย่างครอบคลุม


และยังจะช่วยให้ทั้ง 28 ประเทศสามารถทำงานร่วมกันได้ ตามความเหมาะสมของแนวทาง สถานการณ์ และข้อกฎหมายที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันหลายประเทศเริ่มกังวลว่า การพัฒนา AI อาจไปละเมิดสิทธิมนุษยชน ความเป็นส่วนตัวอย่างไม่ถูกต้อง อีกทั้งยัง อาจจะมีการสร้างเนื้อหาหลอกลวงออกมาได้ในระดับที่ตรวจสอบได้ยาก จนต้องรีบควบคุมและแก้ไข


อีกประเด็นที่สำคัญที่สุดจากการลงนามครั้งนี้ คือบริษัทเอกชนที่มีการพัฒนา AI ทั้งหมดใน 28 ประเทศ จะต้องเปิดเผยข้อมูลการพัฒนา และรับการประเมินโมเดล AI ของตนอย่างเหมาะสม โดยได้รับการทดสอบความปลอดภัยผ่านเครื่องมือที่มีมาตรฐาน พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐ และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องให้สูงมากขึ้นตามไปด้วย



ประชุมครั้งต่อไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า 


อย่างไรก็ตาม การประชุม AI Safety Summit จะได้รับการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในอีก 6 เดือนข้างหน้า ทางเกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมแบบออนไลน์ ต่อด้วยในปีหน้า (2024) ทางฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพการประชุมแบบออฟไลน์ เช่นเดียวกับที่ทางสหราชอาณาจักรจัดขึ้นในครั้งนี้


สำหรับรายชื่อ 28 ประเทศที่ร่วมลงนาม ประกอบไปด้วยออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, ชิลี, จีน, สหภาพยุโรป, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไอร์แลนด์, อิสราเอล, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เคนยา, ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย, เนเธอร์แลนด์, ไนจีเรีย, ฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐเกาหลี, รวันดา, สิงคโปร์, สเปน, สวิตเซอร์แลนด์, ตุรกี, ยูเครน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ, และ สหรัฐอเมริกา 



แหล่งที่มา gov.uk

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง