รีเซต

สตาร์ตอัปสหรัฐฯ โชว์หุ่นขุดเจาะอุโมงค์สุดล้ำด้วยพลังพลาสมา

สตาร์ตอัปสหรัฐฯ โชว์หุ่นขุดเจาะอุโมงค์สุดล้ำด้วยพลังพลาสมา
TNN ช่อง16
22 กรกฎาคม 2565 ( 13:55 )
78
สตาร์ตอัปสหรัฐฯ โชว์หุ่นขุดเจาะอุโมงค์สุดล้ำด้วยพลังพลาสมา

การขุดเจาะอุโมงค์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยเพิ่มตัวเลือกเส้นทางการขนส่งหรือการเดินทาง แต่ก็ต้องแลกกับต้นทุนการก่อสร้างที่สูง เนื่องจากการขุดเจาะจะต้องค่อย ๆ กัดเซาะพื้นผิวขุดเจาะโดยไม่ให้โครงสร้างใต้ดินเสียหาย ซึ่งทำให้เสียเวลาในการขุดเจาะ บริษัท เอิร์ธกริด (EarthGrid) จึงได้นำเสนอการสร้างความร้อนในรูปของพลาสมามาเป็นวิธีใหม่ในการขุดเจาะที่มีประสิทธิผล


เอิร์ธกริด (EarthGrid) เป็นสตาร์ตอัปจากซานฟรานซิสโก (San Francisco) ที่ตั้งขึ้นในปี 2016 โดยมีเป้าหมายหลักในการนำองค์ความรู้ในเชิงฟิสิกส์และวิศวกรรมมาสร้างหนทางใหม่ในการขุดเจาะอุโมงค์สำหรับการวางรากฐานระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน รถไฟฟ้าใต้ดิน โครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) หรือแนวท่อประปาและสายไฟฟ้าระบบใต้ดิน เป็นต้น และหลังจากที่เปิดวิสัยทัศน์ให้ผู้สนใจลงทุนไปเมื่อช่วงต้นปี 2022 ทางบริษัทก็ได้เปิดตัวระบบการขุดเจาะใหม่ล่าสุดกับสื่อในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา 


ระบบขุดเจาะใหม่ล่าสุดจากทางเอิร์ธกริด (EarthGrid) เป็นการนำเสนอหุ่นยนต์สร้างโพรงฉับพลัน (Rapid Burrowing Robot: RBR) เป็นหัวใจของระบบขุดเจาะแบบใหม่ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้หากเลือกต่อเข้ากับระบบพลังงานไฟฟ้าที่สะอาด ทำงานด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างน้อย 40 เมกะวัตต์ (MW) โดยที่ปลายของ RBR จะติดตั้งที่จุดพลาสมา (Plasma Torch) อย่างน้อย 72 หัวจุด เพื่อสร้างคลื่นความร้อนสูงถึง 27,000 องศาเซลเซียส สำหรับการพ่นไอร้อนและระเบิดพื้นผิวขุดเจาะอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้หินหรือพื้นผิวที่ต้องการขุดเจาะระเบิดและแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนพุ่งออกมาเป็นวงรอบแท่นเจาะ RBR ซึ่งทำให้ได้อุโมงค์ที่สวยงามและไม่ทำลายโครงสร้างโดยรวมแต่อย่างใด


ทางเอิร์ธกริด (EarthGrid) ระบุว่า หากใช้พลังงานสูงสุดที่ 1.38 กิกะวัตต์ (GW) จะสามารถขุดเจาะด้วยกระบวนการดังกล่าวด้วยความเร็วประมาณ 1 กิโลเมตรต่อวัน ซึ่งมากกว่าระบบขุดเจาะทั่วไปถึง 100 เท่า และมีต้นทุนการขุดเจาะอยู่ที่ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 110,000 บาท ต่อระยะขุด 1 เมตร ซึ่งถูกกว่าการขุดเจาะรูปแบบเดิมกว่า 98% เท่านั้น


อย่างไรก็ตาม การขุดเจาะอุโมงค์ด้วยพลาสมาไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดในสหรัฐอเมริกา เพราะยังมีสตาร์ตอัปอีก 2 บริษัทที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับเอิร์ธกริด (EarthGrid) ที่กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา รวมถึงเพิร์ฟร็อค (Purfrock) หุ่นยนต์ขุดเจาะแบบดั้งเดิมจากเดอะ บอริง คอมพานี (The Boring Company) ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่ในอนาคตอาจจะสามารถขุดเจาะได้มากถึงวันละ 1.13 กิโลเมตรต่อวัน ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเอิร์ธกริด (EarthGrid) กำลังอยู่ระหว่างการระดมทุนตั้งต้น (Seed Funding) เพื่อให้พร้อมเสนอระบบสำหรับบริการหน่วยงานของรัฐและลูกค้าเอกชนได้ภายในปลายปีนี้







ที่มาข้อมูล Interesting Engineering

ที่มารูปภาพ EarthGrid


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง