รีเซต

ด่วน! สธ.เตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง

ด่วน! สธ.เตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง
TNN ช่อง16
21 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:57 )
413
ด่วน! สธ.เตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง

วันนี้ (21 ก.พ.65) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 และการเตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาด สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยคาดการณ์ 1-2 สัปดาห์ นี้ระดับผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูง ปฏิเสธมาจากการรวมกลุ่มกันในการสังสรรค์ โดยขอให้หลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่แออัดหรือพบคนหมู่มาก หากพบว่าตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เบื้องต้นขอให้ได้ตรวจด้วยชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเอง หรือ ATK ได้ทันที

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม อาจจะไม่เพียงพอต่อการติดเชื้อ ดังนั้น ขอให้ประชาชนไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเร็วหากครบกำหนดระยะเวลา 

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ด้วยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่ยังคงสูงขึ้นทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีความจำเป็นจะต้องยกระดับเตือนภัยโควิด จากระดับ 3 เป็นระดับ 4 โดยมีมาตรการดังนี้

- งดเข้าสถานที่เสี่ยง

- งดทานอาหารร่วมกัน ดื่มสุราในร้าน

- เลี่ยงไปซื้อของที่มีคนจำนวนมาก เช่น ตลาด ห้าง

- เลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน

- งดร่วมกิจกรรม กลุ่มตามเกณฑ์ต่างๆ

- มาตรการทำงานที่บ้านให้ได้ร้อยละ 50-80 

- ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดหากจำเป็นใช้รถยนต์ส่วนตัว

- เลี่ยงไปต่างประเทศ

- หากเข้าประเทศต้องปรับตัวในสถานที่กักกัน 

ขณะที่ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและวัยเด็ก วัยเรียน 

ในส่วนผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก ที่ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือมีภาวะปอดอักเสบพบมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมกว่า 800 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิด ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและพบว่ายังมีกลุ่มที่ยังไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 และบางส่วนไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

การระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ร้อยละ 53 ไม่มีอาการป่วย ส่วนร้อยละ 47 มีอาการป่วย อาการสำคัญ คือ เจ็บคอ ไอ มีไข้ต่ำ 

ขณะที่การติดเชื้อในเด็ก พบเพิ่มขึ้นในช่วงอายุ 0-9 ปี ร้อยละ 10.3 อายุ 10-19 ปี ร้อยละ 13.1 แต่ในกลุ่มเด็กอาการหนักไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้สูงอายุหากติดเชื้อ 

โดยการติดเชื้อโควิด-19 ตอนนี้ กระจายไปยังทั่วประเทศ กลุ่ม 608 เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหนักหลังติดเชื้อ สำหรับกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังมี 18 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ทำให้การระบาดโควิด-19 ขณะนี้ ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งตามที่คาดการณ์ไว้ในฉากทัศน์ เนื่องจากมีการผ่อนคลายในหลายมาตรการ 

สถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิดช่วงที่ผ่านมา ถือว่ามีการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน 5-11 ปี เข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว 394,727 คน คิดเป็น ร้อยละ 7.7 เข็มที่ 2 ฉีดไปแล้ว 13,741 ร้อยละ 0.3 กลุ่มที่มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข็ม 1 ฉีดไปแล้ว 10,508,486 คน ร้อยละ 82.7 เข็ม 2 ฉีดไปแล้ว 9,903,638 คน ร้อยละ 78.0 

ขณะที่ สายพันธุ์การระบาดโควิด-19 ทั่วโลก เป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ข้อมูลการแพร่ระบาด พบว่า สายพันธุ์ดังกล่าวแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ BA.1 กว่า 1.4 เท่า ขณะที่ไทยตอนนี้โอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ระบาดไปแล้วกว่า ร้อยละ 50 

ข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ความรุนแรงโรค ระหว่าง BA.1 และ BA.2 ไม่แตกต่างมากในอาการหนัก แต่ที่เพิ่มคือการแพร่เชื้อ ซึ่ง BA.2 จะแพร่เชื้อได้มากกว่า อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามข้อมูลในประเทศเพิ่มด้วย 

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า การรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ส่วนอาการหนักไม่ได้เพิ่มขึ้น สถานการณ์การใช้เตียงของประเทศ รวมเขตสุขภาพที่ 1-13 รวม 170,000 เตียง โดยผู้ป่วยร้อยละ 50 อยู่ในเตียงระดับ 1 คือกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ขณะที่สัดส่วนการครองเตียงทั่วประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 49 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ขณะที่ อัตราครองเตียง ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง อยู่ที่ร้อยละ 14-15

สถานการณ์เตียงกรุงเทพฯและปริมณฑลรวมทุกสังกัด เตียงระดับ 1 คือ สีเขียว อัตราครองเตียงอยู่ที่ 23,608 หรือร้อยละ 50.5 

ทั้งนี้ การรักษาขณะนี้ได้เปลี่ยนแล้ว โดยทุกรายไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล แต่สามารถทำการรักษาที่บ้านได้.

 

ภาพจาก ทีมข่าว TNN ช่อง 16

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง