SKY จับมือมหาลัย ตั้งศูนย์การเรียนรู้ รับโลกยุคดิจิทัล
ทันหุ้น - สู้โควิด - SKY จับมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมนำเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ มุ่งสู่การเป็น Smart University และรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต
นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ผู้นำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัย ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระดับประเทศ กล่าวว่า บริษัทร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้ง Digital Learning Center (DLC) และ LSED Co-Working Space ณ อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
**เรียนรู้แบบใหม่
โดยโซน Digital Learning Center (DLC) จะเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ และทำกิจกรรม ตลอดจนให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจนวัตกรรมและเทคโนโลยี และโซน Co-Working Space จะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สำหรับนักศึกษาที่ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน อีกทั้งเป็นการเสริมบรรยากาศให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ต่อไป
“บริษัทพร้อมที่จะสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ นักศึกษาจะต้องเข้าถึงบทเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ตอบสนองความต้องการของนักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนบุคลากรและผู้ใช้งานในยุคดิจิทัล ช่วยให้เข้าถึงการค้นหาข้อมูลการเรียน การทำงาน และทำกิจกรรม การสื่อสาร รับ-ส่งข้อมูล เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องการพัฒนาการศึกษาควบคู่กับการสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย พร้อมมุ่งสู่การเป็น Smart University” นายสิทธิเดช กล่าว
**ร่วมพัฒนาหลักสูตร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า นอกจากให้การสนับสนุน Co-Working Space & Digital Learning Center (DLC) แล้ว บริษัทยังร่วมพัฒนาหลักสูตร AI ร่วมกับบริษัท Sensetime และกลุ่มอาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ซึ่งหลักสูตรนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาและบุคคลากรที่มีความสนใจด้าน AI และหลักสูตรจะถูกบรรจุเป็นวิชาพื้นฐานสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในอนาคตอีกด้วย
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางให้ระบบการศึกษายังคงดำเนินต่อไปได้ ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โดยบริษัทมีแผนที่จะขยายระบบเครือข่ายสัญญาณไร้สาย(WiFi) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพื้นที่อื่นๆ โดยจะดำเนินการออกแบบและติดตั้งระบบเครือข่ายสัญญาณไร้สายด้วยเทคโนโลยี WiFi6 ของบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ และเป็นการปรับปรุงระบบเครือข่ายให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการกระจายสัญญาณให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น รองรับต่อจำนวนอุปกรณ์สัญญาณไร้สายของนักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนมากขึ้น
**รับการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่า การสร้างพื้นที่มหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด โดยนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการเรียน การสอน รวมไปถึงการร่วมพัฒนาหลักสูตรด้าน AI นั้น จะทำให้บุคลากรทางการศึกษารู้เท่าทันและเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะกระทบกับเราในอนาคต ถือเป็นการเปิดประตูสู่การศึกษาที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง