รีเซต

ทำความรู้จัก ซินเคอหยวน เจ้าของเหล็กอ้อย ด้อยคุณภาพ อดีตเคยทำบริษัทเหล็กไทยเจ๊งไปตามๆกันก่อนถูกสั่งปิดถาวร

ทำความรู้จัก ซินเคอหยวน เจ้าของเหล็กอ้อย ด้อยคุณภาพ อดีตเคยทำบริษัทเหล็กไทยเจ๊งไปตามๆกันก่อนถูกสั่งปิดถาวร
TNN ช่อง16
1 เมษายน 2568 ( 17:31 )
7

เพราะเหล็ก เปรียบเสมือนเป็น โครงกระดูกของโครงสร้างอาคาร หากเราเลือกใช้ผิดประเภทหรือด้อยคุณภาพ นั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อ ชีวิตและทรัพย์สิน ของคนทุกคน 

จากกรณี ตึก สตง. หรือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพังถล่มลงมาหลังเหตุแผ่นดินไหว และพบว่าเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารนั้นด้อยคุณภาพกว่ามาตรฐานที่ไทยกำหนดเอาไว้จริง โดยจากการสุ่มตรวจ 28 ชิ้น 3 แบรนด์ แต่พบว่ามีเพียงแบรนด์เดียวเท่านั้นที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยพบเป็นเหล็กข้ออ้อย  2 ไซส์ คือ 20 มิลลิเมตร มีมวลน้ำหนักเบากว่ามาตรฐาน และ 32 มิลลิเมตร ไม่ได้มาตรฐานค่าความสามารถในการต้านแรงดึง 

ซึ่งทั้ง 2 ไซส์ กลับมาจาก บริษัทเดียวนั่นคือ ซิน เคอ หยวน บริษัทผลิตเหล็กรายใหญ่สัญชาติจีน ที่เข้ามาตั้งบริษัทในไทยตั้งแต่ปี 54  และสร้างความสะเทือนให้วงการผลิตเหล็กไทยต้องปิดกิจการลงก็มี เพราะถูกขายตัดราคา และพี่แกผลิตเหล็กแทบทุกชนิด หากผลิตของถูกและดีคงไม่มีใครว่า 

โดยปกติหากพบเหล็กไม่ได้คุณภาพ และถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างจนเกิดความเสียหายในลักษณะนี้ ต้องสั่งปิดโรงงานอย่างแน่นอน แต่ ซินเคอหยวน นั้นถูกสั่งปิดไปก่อนแล้วตั้งแต่ปลายปี 2567 ส่วนเหตุผลที่มีเหล็กจากบริษัทดังกล่าว ถูกนำไปใช้ก่อสร้างตึก สตง. เป็นล็อตเก่า เพราะตึกนี้ถูกสร้างมากว่า 5 ปีแล้ว มากกว่านั้น ท่านรัฐมนตรีเอกนัฏ รับเองว่า ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่รายงานว่าถูกข่มขู่ วิ่งเต้น เพื่อให้เลิกตรวจสอบการสร้างตึก สตง. แห่งนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึง ความมีเงื่อนงำ ที่อยู่เบื้องหลัง โครงการก่อสร้างตึกมรณะ มูลค่า 2000 ล้านแห่งนี้ว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลังบ้าง? 

การตรวจสอบทั้งเรื่องมาตรฐานการผลิต ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานรัฐในการเข้าไปตรวจสอบ
แต่วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จัก บ.ซินเคอหยวน บริษัทผลิตเหล็กสัญชาติจีน ที่ทำวงการค้าเหล็กไทยระส่ำตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จนมางามหน้าในเหตุการณ์ ตึก สตง. ถล่มในครั้งนี้

รู้จัก บ.ซินเคอหยวน 

ปี 2554  บริษัทเป็นปีที่อุตสาหกรรมผลิตเหล็กในไทยเริ่มใจหาย เมื่อบริษัทผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่จากประเทศจีน ซินเคอหยวน ได้มาเปิดกิจการผลิตเหล็กในไทยครบวงจร ทั้ง เหล็กเส้น เหล็กแผ่น เหล็กลวด  และเนื่องจากผลิตเยอะเกือบเป็นอันดับหนึ่งของไทย และขายในราคาที่ถูกเพียง ไม่กี่ปีถัดมาบริษัทเหล็กของไทย ต้องปิดกิจการลงอย่างน่าเสียดาย

แต่ตกม้าตายด้วยตัวเองจากอุบัติเหตุใหญ่  2 ครั้ง ปี 2567 จนถูกสั่งปิด

อุบัติเหตุครั้งแรกคือ ปั้นจั่นการก่อสร้างโครงแผ่นเหล็กพังถล่ม มีคนงานเสียชีวิต และ เหตุการณ์แก๊สระเบิดปลายปี เพราะการเคลื่อนย้ายถังก๊าซ LPG ไม่ถูกต้อง และไม่ขออนุญาตจนแก๊สรั่วไหลกว่า 110,000 ลิตร จนเกิดระเบิดขึ้นที่โรงงานในจังหวัดระยอง

นำมาซึ่งการตรวจสอบครั้งใหญ่จาก ท่าน รมต.อุตสาหกรรม คือ ท่านเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส่งชุดตรวจสุดซอยเข้าดำเนินการทันที ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า มีเหล็กหลายประเภท ไม่ได้มาตรฐาน  การเปิดโรงงานพบข้อบกพร่อง ทั้งในส่วนมาตรฐานด้านความปลอดภัย และ ด้านสิ่งแวดล้อม สุดท้ายถูกดำเนินคดี สั่งปิดกิจการจนถึงปัจจุบัน และ ถูกอายัติเหล็กของกลางด้อยคุณภาพไว้กว่า 2,000 ตัน รวมมูลค่ากว่า 49 ล้านบาท 

ปิดท้ายไว้เป็นความรู้ ดูข่าวจะได้เข้าใจว่า
เหล็กประเภทไหน เหมาะสำหรับใช้ในการสร้างอาคารสูงอย่างตึก สตง. มากที่สุด?

คำตอบ ตึกสูงควรใช้เหล็กข้ออ้อย ชนิด NON T มากที่สุด เพราะ

เหล็กข้ออ้อย ‘T’: “ผ่านกรรมวิธีทางความร้อน โดยการสเปรย์น้ำหลังการรีดร้อน ทำให้ผิวเหล็กเย็นตัวอย่างรวดเร็ว แต่แกนกลางยังร้อนอยู่ โครงสร้างภายในอาจไม่สม่ำเสมอ

ข้อดีคือ ผลิตได้รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ แต่อาจไม่เหมาะกับการใช้งานในอาคารสูง หรือต้องการรองรับแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวเพราะโครงสร้างภายในไม่สม่ำเสมอกัน 

เหล็กข้ออ้อย ‘Non-T’:  ผลิตโดยการรีดร้อนและปล่อยให้เย็นตัวเองตามธรรมชาติ ไม่มีการเร่งความเย็น ทำให้โครงสร้างของเหล็กเป็นเนื้อเดียวกัน  ทำให้มีความแข็งแรงสม่ำเสมอทั่วหน้าตัด ยึดจับคอนกรีตได้ดี เหมาะอย่างมากสำหรับการใช้ในการก่อสร้างตึกสูง  ที่ต้องการความแข็งแรง และ ป้องกันการสั่นไหว 

 แต่ข้อเสียคือกระบวนการผลิตอาจใช้เวลานาน และมีต้นทุนสูงกว่าเมื่อเทียบกับเหล็ก “T”

“เพราะหากเหล็กได้มาตรฐาน = อาคารแข็งแรง = ทุกชีวิตปลอดภัย ”

"อย่าเลือกของแค่เพราะความถูก…เพราะชีวิตคนประเมินค่าไม่ได้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง