รีเซต

ก.ก.ถ. มีมติเสนอ ครม. ชดเชยรายได้ภาษีที่ดินให้ อปท. 5.3 หมื่นล้าน หลังถูกลดเก็บภาษีที่ดินฯ

ก.ก.ถ. มีมติเสนอ ครม. ชดเชยรายได้ภาษีที่ดินให้ อปท. 5.3 หมื่นล้าน หลังถูกลดเก็บภาษีที่ดินฯ
มติชน
6 ตุลาคม 2563 ( 13:50 )
180

มติคณะกรรมการกระจายอำนาจเสนอ ครม.ชดเชยรายได้ภาษีที่ดินให้ อปท. 5.3 หมื่นล้าน ชดเชยรายได้หดหลังรัฐสั่งลดเก็บภาษีที่ดินฯ

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นายวีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ( ก.ก.ถ.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่ามติ ก.ก.ถ. ที่สำคัญเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ดังนี้

 

1. ก.ก.ถ. เห็นชอบกับการเสนอขอให้รัฐบาลชดเชยการลดลงของรายได้ท้องถิ่นจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในวงเงิน 5.33 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมรายได้ปี 2563 – 2565 ก.ก.ถ. จะนำเสนอมตินี้ให้คณะรัฐมนตรี ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

 

2. ก.ก.ถ. เห็นชอบและเห็นควรส่งให้ ครม. รับทราบและสั่งการหน่วยงานต่าง ๆ ในกำกับ ทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ความร่วมมือแก่ อปท. เข้าพื้นที่เพื่อสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกำชับให้หน่วยงานรัฐร่วมมือชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ อปท. ถ้าประเมินแล้วอยู่ในข่ายที่ต้องชำระภาษี

 

3. ก.ก.ถ. เห็นชอบแนวทางการจัดสรรภาษีและเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. ซึ่งเป็นไปตามหลักการเดิมในปี 2562 เว้นแต่การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ตาม พ.ร.บ. แผนฯ จะกำหนดบนหลักการการชดเชยผลกระทบจากโควิด-19 อีกครั้ง

 

4. ก.ก.ถ. เน้นย้ำเรื่องการถ่ายโอนภารกิจให้อยู่ในความดูแลของ อปท. ไม่ให้ส่วนราชการต่าง ๆ เรียกภารกิจคืนได้ตามอำเภอใจ หรือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เว้นแต่ อปท. จะร้องขอหรือมีกรณีอื่นที่จำเป็นอย่างยิ่ง และต้องเสนอต่อ ก.ก.ถ. ให้ความเห็นชอบก่อน

 

5. ก.ก.ถ. เห็นควรเร่งรัดการสร้างความร่วมมือระหว่าง อปท. กับกรมการขนส่งทางบก เพื่อติดตามภาษีรถยนต์ค้างชำระ โดยให้ประสานในรายละเอียดวิธีการสร้างความร่วมมือที่เหมาะสม ส่วนประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลผู้ที่ค้างชำระภาษีไม่น่าจะติดขัดในกรอบกฎหมาย เนื่องจากเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะแห่งการจัดเก็บภาษี

 

“ผมและทีมงานต้องขอขอบคุณ อปท. หลายแห่งที่ให้ข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท. 8 แห่งที่มีโอกาสเก็บข้อมูลวิจัยในปีที่ผ่านมา ทำให้มีตัวเลขอ้างอิงการประมาณการการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขอขอบคุณ อบจ. หลายแห่งที่ร่วมมือศึกษาวิจัย โดยเฉพาะ อบจ.กระบี่ ได้ศึกษาทดลองมาตรการเร่งรัดภาษีรถยนต์ ที่มีในระบบคงค้างทั่วประเทศกว่า 6 พันล้านบาท นำมาซึ่งข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม และสามารถผลักดันไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายได้ในครั้งนี้และต้องขอขอบคุณส่วนราชการต่าง ๆ ที่ได้ร่วมมือหาทางออกในการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านรายได้ของ อปท.”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง