รีเซต

นาซามอบทุนพัฒนาจรวดพลาสมาพัลล์ ลดเวลาส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคารให้เหลือ 2 เดือน

นาซามอบทุนพัฒนาจรวดพลาสมาพัลล์ ลดเวลาส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคารให้เหลือ 2 เดือน
TNN ช่อง16
23 พฤษภาคม 2567 ( 12:35 )
11
นาซามอบทุนพัฒนาจรวดพลาสมาพัลล์ ลดเวลาส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคารให้เหลือ 2 เดือน

นาซามอบทุนมูลค่าสูงถึง 175,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 6.3 ล้านบาท ให้กับบริษัท ฮาว อินดัสทรีส์ (Howe Industries) พัฒนาจรวดรูปแบบใหม่พลาสมาพัลล์ Pulsed Plasma Rocket หรือ PPR ผ่านโครงการ NIAC หรือ NASA Innovative Advanced Concepts โดยคาดว่าเทคโนโลยีจรวดรูปแบบใหม่นี้สามารถลดเวลาการเดินทางไปดาวอังคารเหลือภายใน 2 เดือน 


จรวดรูปแบบใหม่พลาสมาพัลล์ หรือ PPR แตกต่างจากเทคโนโลยีจรวดในปัจจุบันที่ต้องใช้เวลาเดินทางไปดาวอังคารนานกว่า 8-9 เดือน หากทำได้สำเร็จอาจสามารถช่วยให้การส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์เดินทางไปดาวอังคารได้รวดเร็วขึ้น


แนวคิดของเทคโนโลยีจรวดแบบพลาสมาพัลล์ หรือ PPR คาดว่าสามารถสร้างแรงขับดันสูงถึง 100,000 นิวตัน โดยสร้างแรงกระตุ้นเฉพาะหรือ Isp ประมาณ 5,000 วินาที โดยแนวคิดการพัฒนามาจากความต้องการเทคโนโลยีจรวดที่มีขนาดเล็กและราคาไม่แพง 


ต้นกำเนิดของเทคโนโลยีจรวดรูปแบบใหม่พลาสมาพัลล์ หรือ PPR  มาจากจรวดพลังงานนิวเคลียร์แบบฟิชชัน โดยใช้พลังงานจากการแยกตัวของอะตอมในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ เพื่อสร้างแรงผลักให้กับยานอวกาศ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีจรวดแบบ PPR มีขนาดเล็กกว่า และเรียบง่ายกว่าจรวดพลังงานนิวเคลียร์แบบฟิชชัน แต่รองรับการใช้งานกับยานอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่า


ปัจจุบันบริษัท ฮาว อินดัสทรีส์ (Howe Industries) พัฒนาจรวดรูปแบบใหม่พลาสมาพัลล์ หรือ PPR ในระยะที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในระยะที่ 1 นี้จะมุ่งเน้นระบบขับเคลื่อน การออกแบบยานอวกาศ ระบบไฟฟ้า และระบบย่อยอื่น ๆ ที่จำเป็นบนยานอวกาศ การวิเคราะห์ระบบหัวฉีกแม่เหล็ก และเตรียมพัฒนาต่อยอดเข้าสู่ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกแบบเครื่องยนต์ และทำการพิสูจน์แนวคิดการปกป้องยานจากรังสีบนอวกาศ


นับเป็นอีกครั้งที่โครงการ NIAC หรือ NASA Innovative Advanced Concepts ของนาซาสนับสนุนแนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยในตอนนี้ได้มอบทุนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปแล้วกว่า 13 บริษัท เพื่อรองรับภารกิจการสำรวจดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ สำหรับเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ NIAC เช่น เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity) ที่ประสบความสำเร็จบินบนดาวอังคารมาแล้ว เป็นต้น


ที่มาของข้อมูล Space.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง