รีเซต

วันเฉลิม : จาก #SaveWanchalerm สู่ #ปล่อยเพื่อนเรา สำรวจการขับเคลื่อนคู่ขนานของคนหนุ่มสาวในโลกออนไลน์และท้องถนน

วันเฉลิม : จาก #SaveWanchalerm สู่ #ปล่อยเพื่อนเรา สำรวจการขับเคลื่อนคู่ขนานของคนหนุ่มสาวในโลกออนไลน์และท้องถนน
บีบีซี ไทย
9 มิถุนายน 2563 ( 20:41 )
263
1

 

3 นักศึกษาถูกตำรวจควบคุมตัวไปสอบสวนที่ สน.สำราญราษฎร์ ในระหว่างทำกิจกรรม "ผูกโบว์ขาวทวงความยุติธรรมให้ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และผู้ลี้ภัยทางการเมือง" เมื่อช่วงบ่ายของ 9 มิ.ย.

 

นักศึกษากลุ่มนี้เคลื่อนไหวในนามสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ประกอบด้วย จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน สนท. และนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ชนินทร์ วงษ์ศรี รองประธาน สนท. และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ทั้งหมดถูกจับกุมขณะกำลังผูกโบว์ขาวอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังทำกิจกรรมไปแล้วจุดหนึ่งบริเวณหน้ากระทรวงกลาโหม โดยมีสารวัตรทหาร (สห.) เข้าเจรจาเพื่อขอให้ยุติการดำเนินการ โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้พวกเขา "เดือดร้อน"

 

ปทัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ โฆษก สนท. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เขากับเพื่อนรู้ข้อกฎหมายดี และ "รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่คิดว่าคุ้มกับการได้แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ให้แก่วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองทุกคน คนเหล่านี้ควรได้รับความยุติธรรม ไม่ควรมีใครต้องออกจากบ้านไปเพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมือง"

 

แม้ปทัสยาเดินทางไปหน้ากระทรวงกลาโหมด้วย แต่ด้วยหน้าที่พลขับ ทำให้เธอไม่ได้ลงจากรถยนต์ มีเพียงเจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุยเรื่องการจอดรถในสถานที่ห้ามจอด โดยเธอบอกในช่วงเย็นว่าไม่ได้ถูกตั้งข้อหาอย่างเพื่อนคนอื่น ๆ

 

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์แจ้งข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง แก่นักศึกษาทั้ง 3 คน และยังอยู่ระหว่างการเจรจากับทนายความและผู้ถูกแจ้งข้อหา ทำให้แฮชแท็ก #ปล่อยเพื่อนเรา ขึ้นเป็นเทรนด์ยอดนิยมทวิตเตอร์

 

โฆษก สนท. ระบุว่า เหตุที่สหภาพเลือกใช้ "โบว์สีขาว/ริบบิ้นสีขาว" เป็นสัญลักษณ์ทวงคืนความยุติธรรมให้วันเฉลิม เพราะต้องการแทนภาพตามความรู้สึกของสังคมที่ว่าพลังนักศึกษานั้นเป็นพลังบริสุทธิ์ อีกทั้งมองว่าริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์ที่ใคร ๆ ก็หาได้-เข้าถึงง่าย ซึ่งน่าจะทำให้การรณรงค์ครั้งนี้เป็นไปอย่างกว้างขวาง

 

"ความเป็นนักศึกษาทำให้เราไม่มีภาระมากหากเทียบคนอาชีพอื่น ๆ จึงเห็นแต่ขบวนการนิสิตนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งก็มีพวกป้า ๆ มาบอกว่าถ้านักศึกษาออกมา เขาก็จะออกตาม" ปทัสยาระบุ

 

สนท. เป็นหนึ่งในขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อกรณีการ "อุ้มหาย" วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ย้ายไปปักหลักอยู่ที่ประเทศกัมพูชานับจากรัฐประหารปี 2557 ก่อนหายตัวไปตั้งแต่เย็นวันที่ 4 มิ.ย. หลังสิ้นเสียงตะโกน "หายใจไม่ออก ๆ" กรอกหูพี่สาวผู้ถือสายสนทนากับน้องชายอยู่ในประเทศไทย

 

"ตอนทราบข่าว เรามีหวังว่าพี่ตาร์ยังอยู่ และรู้สึกว่าถ้าทำอะไรตอนนั้นอาจช่วยพี่เขาได้ แต่ถ้าช่วยไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องให้คนในสังคมตระหนักรู้ว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง มนุษย์ทุกคนมีสิทธิจะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ว่าเขาจะร้ายจะดีอย่างไร" โฆษก สนท. กล่าว

 

อีกกลุ่มร้องยูเอ็น เพราะรัฐบาลไม่สนใจ

หากเวลาตี 1 ของวันที่ 5 มิ.ย. คือช่วงที่สมาชิก สนท. หารือ-แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ก่อนได้ข้อสรุปว่าจะจัดกิจกรรม "ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน" หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ

 

ในเวลาตี 3 นักศึกษาอีกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา เคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) ก็กำลังง่วนอยู่กับการยกร่างจดหมายเปิดผนึกถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights - UNOHCHR) เพื่อขอให้ติดตามตรวจสอบการบังคับให้หายสาบสูญของวันเฉลิมและผู้ลี้ภัยชาวไทยในต่างแดน

 

"ทีเราเลือกสื่อสารผ่าน UNOHCHR เพราะมองว่าทางการไทยไม่ให้ความสนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ออกแอ็กชันใด ๆ เลย เราจึงพุ่งเป้าไปที่องค์กรระหว่างประเทศ และเหตุการณ์ก็เกิดในต่างประเทศด้วย" สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ม.ศรีนครินทรวิโรฒ หนึ่งในสมาชิกเครือข่าย คนป. บอกกับบีบีซีไทย

 

เหตุที่ คนป. ต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวกรณี "อุ้มหาย" ผู้ลี้ภัยที่พวกเขา "ไม่เคยรู้จักมาก่อน" เป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงทุกรูปแบบ และมองว่า "ไม่ควรมีใครถูกอุ้มทั้งนั้นไม่ว่าจะฝ่ายใด"

 

ส่วนท่าทีของทูตสันถวไมตรีของ UNHCR อย่าง ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก นักแสดงและนางแบบสาวชื่อดัง ที่ประกาศไม่ขอเกี่ยวข้องกับ "เรื่องการเมือง" หลังถูกพลเมืองเน็ตทวงถามจุดยืนในกรณีวันเฉลิม แกนนำนักศึกษา คนป. มองว่า "ทุกอย่างคือเรื่องการเมือง คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเมืองได้ แค่คุยกับเพื่อนก็คือการเมืองแล้ว... การที่คุณมาอยู่จุดนี้ คุณต้องช่วยเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราคนไทยด้วยกัน"

 

ชี้อำนาจนิยมกดทับ-ก่อเกิด "ไทยเฉย"

ภาพของนักแสดงหญิงรายนี้อาจสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยที่คนส่วนหนึ่งพร้อมเป็น "ไทยเฉย" นิ่ง-เงียบต่อกรณี "อุ้มหาย" ซึ่งสิรภพเห็นว่าเป็นเพราะ "คนไทยกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็น อำนาจที่มองไม่เห็น ทำให้ไม่พูดออกมา กลัวพูดไปแล้วจะตกงาน แต่พวกผมเป็นนักศึกษา ไม่มีอะไรต้องกลัว"

 

สอดคล้องกับความเห็นของนักเรียนกลุ่ม "เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ" ที่ว่า "การเพิกเฉยเท่ากับการเลือกข้างที่จะยอมรับและอยู่กับมัน" นั่นคือเหตุผลให้พวกเขาต้องลุกขึ้นมาออกแถลงการณ์ประณามการบังคับสูญหายและการเพิกเฉยของรัฐบาลที่มีต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น และใช้ทุกช่องทางการสื่อสารที่มีสื่อความคิดสู่สังคมว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไม่ควรถูกลิดรอน

 

"ความเพิกเฉยของสังคมมาจากระบบที่ล้มเหลว การประณามอาชญากรรมในครั้งนี้ สิ่งที่ควรประณามอาจไม่ใช่สังคม แต่เป็นอำนาจนิยมและระบบที่กดทับคนเอาไว้ ทำให้คนไม่กล้าพูดในอาชญากรรมที่เกิดขึ้นตรงหน้า" นักเรียนกลุ่มเกียมอุดมฯ ให้ความเห็น

 

แตถึงกระนั้นนักเคลื่อนไหววัยมัธยมกลุ่มนี้ยอมรับว่าความเป็น "นิรนาม" ที่อยู่ในทวิตภพ ทำให้พวกเขากล้าเสนอความเห็นอย่างจริงจัง เป็นอิสระ และปลอดภัย

 

"การไม่รู้ทันทีว่าเราเป็นใคร ทำให้การประท้วงยุคนี้แตกต่างจากยุคก่อน แต่ก่อนต้องออกไปชุมนุมเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้อย่างน้อยเราได้เห็นว่ามีคนคิดเหมือนเรา แต่ยังไม่ออกไป ค่อย ๆ สร้างพลวัตรความเปลี่ยนแปลงไป เพราะถ้าเราเปิดหน้าปุ๊บ ก็จะมีอำนาจมาคุกคามความเป็นส่วนตัวของเรา" นักเรียนกลุ่มเกียมอุดมฯ กล่าว

 

ขณะที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกคนเสริมว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียนนักศึกษาสมัยนี้คือ "พยายามพูดไปให้สุดเพดานเท่าที่ทำได้ เพราะถ้าไม่พูดให้เต็มที่ เพดานก็จะกดทับลงมาเรื่อย ๆ" ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรักษาพื้นที่ทางความคิดและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

 

สามปัจจัยจุดกระแสวันเฉลิมในโลกออนไลน์-ออฟไลน์

แฮชแท็ก #SaveWanchalerm กลายเป็นกระแสยอดนิยมในทวิตภพ และยังถูกรายงานโดยสื่อกระแสหลักและกระแสรอง ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่แตกต่างหากเทียบกับ 8 กรณี "อุ้มหาย" ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้

 

แกนนำนักเรียน-นักศึกษาวิเคราะห์ตรงกันว่ามาจาก 3 ปัจจัยคือ

  • ระบบการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้นในรอบ 6 ปี นับจากรัฐประหารปี 2557 และมีการเลือกตั้ง
  • คนรุ่นใหม่ใช้ทวิตเตอร์แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารแทนสื่อกระแสหลักที่พวกเขาเชื่อว่าถูกกดทับโดยอำนาจรัฐ
  • สถานะอันไม่ชัดเจนของวันเฉลิมว่าเป็นผู้ต้องหาคดี ม. 112 หรือไม่ต่างจากผู้ลี้ภัยที่ถูก "อุ้มหาย" ไปก่อนหน้า

 

"คนที่ถูก 'อุ้มหาย' ในกรณีอื่น ๆ มักเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดี 112 แต่พี่ต้าร์ แค่ขัดคำสั่งเรียกรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จึงน่าสงสัยว่าหายตัวไปได้อย่างไร" ปทัสยาแห่ง สนท. ตั้งข้อสังเกต

 

สิรภพกล่าวว่า ขณะนี้โซเชียลมีเดียเปิดกว้างขึ้น เป็นช่องทางที่ทำให้กรณีวันเฉลิมถูกพูดถึง ต่างจากกรณีผู้ลี้ภัยอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งในเวลาที่เกิดเรื่องพวกเขาก็ยังเด็ก และไม่ค่อยได้รับข้อมูลข่าวสารอะไรเนื่องจากสื่อโดนปิดปาก

 

"เราเห็นได้ชัดเลยว่าคนตื่นตัวมาก อย่างที่ไปรวมตัวกันหน้าสถานทูตกัมพชา นั่นคือการเอาสิ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์มาเป็นออฟไลน์ แสดงให้เห็นว่ามีคนไม่พอใจนะที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น" สิรภพกล่าว

 

ขณะที่นักเรียนกลุ่มเกียมอุดมฯ ชี้ว่า ปรากฏการณ์ "แฟลชม็อบ" นักเรียนนักศึกษาเมื่อ ก.พ. ทำให้คนกล้าพูดมากขึ้น และกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้นหลังถูกกดทับมา 5 ปี อย่างไรก็ตามพวกเขามองว่าความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ในโลกออนไลน์ จะหวังผลในทางปฏิบัติการจริงได้ก็ต่อเมื่อมีการประสานร่วมมือระหว่างกลุ่ม พร้อมเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติรับลูกไปดำเนินการต่อดวยการตรา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย เพื่อไม่ให้มีกรณี "อุ้มหาย" เกิดขึ้นอีกไม่ว่ากับใครก็ตาม

 

"ทีเราออกมาเคลื่อนไหวในกรณีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะอยากให้รัฐบาลรับรองเสรีภาพในการแสดงออก แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นสามัญสำนึกเมื่อได้เห็นความอยุติธรรมในสังคม เรามองว่าไม่ว่าจะเกิดกับใคร ฝ่ายไหยก็ไม่ควรจะเกิด นี่ไม่ใช่แค่นักเรียนนักศึกษา แต่ควรเป็นสามัญสำนักในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง" นักเรียนกลุ่มเกียมอุดมฯ กล่าว

 

ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักเรียนนักศึกษาใน #SaveWanchalerm

วันที่

กิจกรรม

5 มิ.ย.

เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา เคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึง UNOHCHR ขอให้ติดตามตรวจสอบการบังคับให้หายสาบสูญของผู้ลี้ภัยชาวไทยในต่างประเทศ และพิจารณาถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยกลไกการตรวจสอบในระดับสากล

5 มิ.ย.

สหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) จัดกิจกรรม "ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน" หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ โดยเปิดให้ประชาชนร่วมวางดอกไม้ต่อหน้าภาพของบุคคลที่ถูก "อุ้มหาย" พร้อมเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและยุติการคุกคามนักกิจกรรมทางการเมือง

5 มิ.ย.

คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ต่อต้านการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้มีการป้องกันมิให้มีการทำให้สูญหายด้วยกระบวนการทางกฎหมาย

5 มิ.ย.

สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐไทย 3 ข้อคือ ต้องอำนวยความยุติธรรมให้แก่เหยื่อและครอบครัวผู้ถูกอุ้มหาย, ต้องผลักดันให้มีกระบวนการทางกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการอุ้มหาย และต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายฯ โดยเร็ว

6 มิ.ย.

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ออกแถลงการณ์ประณามกรณีการอุ้มหายนายวันเฉลิม และเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงท่าทีที่ชัดเจน เพราะจะ "เป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิในชีวิตและสิทธิขั้นพื้นฐานด้านอื่น ๆ ของประชาชน"

6 มิ.ย.

นักเรียนกลุ่ม "เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ" ออกแถลงการณ์ประณามการบังคับสูญหายและการเพิกเฉยของรัฐบาลที่มีต่ออาชญากรรมอันอุกฉกรรจ์ พร้อมยื่น 2 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลคือ ต้องผลักดันพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย และต้องสอบสวนคดีบังคับสูญหายทั้งคดีใหม่และคดีเก่า

7 มิ.ย.

สนท. จัดกิจกรรม "ผูกโบว์ขาวทวงความยุติธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทางการเมือง" โดยออกผูกโบว์ขาวตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ อาทิ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท ประตูน้ำ สี่แยกราชประสงค์ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านความอำมหิตที่รัฐกระทำต่อวันเฉลิมและประชาชนทุกคน

8 มิ.ย.

สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐมีท่าทีชัดเจนต่อกรณีวันเฉลิม เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดและเร่งคืนความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

9 มิ.ย.

สนท. จัดกิจกรรม "ผูกโบว์ขาวทวงความยุติธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทางการเมือง" โดยออกผูกโบว์ขาวที่กระทรวงกลาโหม กองทัพภาคที่ 1 และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านความอำมหิตที่รัฐกระทำต่อวันเฉลิมและประชาชนทุกคน

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากเพจของเครือข่ายนักเรียนนักศึกษาต่อกรณี "อุ้มหาย" วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง