ทำไม? อาคเนย์ประกันภัย เลิกกิจการไม่ได้ หลัง คปภ.ออกโรงสวน ยังไม่อนุญาต!
ข่าววันนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น หลากหลายธุรกิจต่างได้รับผลกระทบ รวมถึงธุรกิจประกันวินาศัยที่ไปต่อไม่ไหว เซ่นพิษ "เจอ-จ่าย-จบ" จนถูกเพิกถอนใบอนุญาต เลิกกิจการในที่สุด ซึ่งหากใครจำได้ก่อนหน้านี้มีบริษัทประกันภัยที่ต้องโบกมือลา เช่น เอเชียประกันภัย เดอะ วันประกันภ้ย ที่สู้ต่อไม่ไหวถูก คปภ.เพิกถอนใบอนุญาต และจัดแนวทางความช่วยเหลือให้แก่ผู้เอาประกันภัย ให้สามารถเรียกร้อง เคลมประกันได้ตามกรมธรรม์ที่ถือไว้
ล่าสุด ประเด็นร้อนแรงที่ชวนให้ลูกค้าเกิดข้อกังวลใจ เกิดข้อสงสัย เมื่อ อาคเนย์ประกันภัย ประกาศเลิกกิจการเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่าน แต่พอรุ่งเช้ากลับมีข่าว สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกโรงสวนว่า "ยังไม่อนุญาตให้ บริษัท อาคเนย์ ยกเลิกกิจการ"
ทำไม? อาคเนย์ประกันภัย เลิกกิจการไม่ได้
งานนี้ สร้างความสับสนให้ผู้เอาประกันภัยที่ซื้อกรมธรรม์จาก อาคเนย์ประกันภัย ว่าต้องทำอย่างไร? จะเคลมโควิดได้ที่ไหน? แล้วทำไม? อาคเนย์ประกันภัย เลิกกิจการไม่ได้ มาหาคำตอบกันเลย
สำหรับสาเหตุที่ คปภ. ยังไม่อนุญาตให้ "อาคเนย์ประกันภัย" เลิกกิจการได้นั้น ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 กำหนดให้กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย
ซึ่งจากนั้นคณะกรรมการจะมีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ให้บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้เลิกกิจการ ดังนี้
- วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่
- วิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสียทราบ และใช้สิทธิตามกฎหมาย
- การโอนหรือการขอรับเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียน
- การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัยและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท
- ระยะเวลาของการดำเนินการตาม (1) (2) (3) และ (4)
ในกรณีที่คณะกรรมการอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และบริษัทประสงค์จะเลิกบริษัท การเลิกบริษัทให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและให้มีการชำระบัญชี
คปภ.ยังระบุต่อว่า แม้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ต่อคณะกรรมการ คปภ. ผ่านสำนักงาน คปภ. แล้ว แต่คณะกรรมการ คปภ. ยังไม่ได้อนุญาต ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายก่อนเสนอต่อคณะกรรมการ คปภ.พิจารณาต่อไป
โดยทาง คปภ. ยืนยันว่า ตอนนี้ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยังไม่สามารถปิดหรือหยุดประกอบกิจการได้จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจากคณะกรรมการ คปภ.
คำถามต่อมา ทำไม? อาคเนย์ประกันภัย ประกาศเลิกกิจการ
1. ก่อนหน้านี้ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเองก็ได้ให้การสนับสนุน เพิ่มทุนด้านการเงินไปแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยพยุงธุรกิจประกันวินาศภัยของกลุ่มบริษัทฯ
2. บอร์ดได้พิจารณาผลกระทบในกรณีดำเนินกิจการของอาคเนย์ประกันภัยต่อไปซึ่งย่อมจะนำไปสู่การมีฐานะหรือการดำเนินงานที่ขาดความเหมาะสมจะประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและถูกเพิกถอนใบอนุญาต
3. เปรียบเทียบกับกรณีขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันภัยโดยสมัครใจตามขั้นตอนของกฎหมายประกันวินาศภัยแล้วเห็นว่ามีข้อพิจารณาที่สำคัญหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าการขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นทางเลือกที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
4. ขอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) พิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการในเรื่องการดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่อาคเนย์ประกันภัยยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้น ๆ
- ผู้ถือกรมธรรม์โควิด-19 ของอาคเนย์ประกันภัยจำนวน 1,851,921 ราย
- ผู้ถือกรมธรรม์ประเภทอื่นๆ (Non Covid-19) ของอาคเนย์ประกันภัยอีกกว่า 8,629,036 ราย หรือรวมกันประมาณ 10,480,957 ราย
ส่อง TGH เปิดขั้นตอนดูแลลูกค้า อาคเนย์ประกันภัย
สำหรับขั้นตอนการดูแลลูกค้านั้น ที่ TGH วางไว้คือ กรณีดำเนินธุรกิจต่อไปและถูกเพิกถอนใบอนุญาต ขอให้กองทุนฯ จัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกองทุนประกันวินาศภัย
โดยอาคเนย์ประกันภัยเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ ในการดำเนินการของกองทุนประกันวินาศภัยดังกล่าว ผู้ถือกรมธรรม์ทั้งหมดจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ถือกรมธรรม์จะได้รับการคืนเบี้ยประกันตามสัดส่วน หรือได้รับการคุ้มครองต่อเนื่อง หากย้ายกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น
ส่วนคู่ค้า อาทิ อู่ซ่อมรถ, โรงพยาบาล, ตัวแทน ของอาคเนย์ประกันภัยกว่า 9,000 ราย จะได้รับเงินชำระอย่างครบถ้วนหากอาคเนย์ประกันภัยยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน
ปัจจุบันอาคเนย์ประกันภัยยังสามารถจ่ายเงินคืนผู้เอาประกันภัยได้ครบถ้วนทุกราย และยังมีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้ให้คู่ค้าทั้งหมด รวมถึงพนักงานลูกจ้าง 1,396 คน แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของอาคเนย์ประกันภัยจะลดลงหากการตัดสินใจดำเนินการในเรื่องนี้ล่าช้าออกไป
ขณะที่ สถานะทางการเงินของอาคเนย์ประกันภัย มีสินทรัพย์สุทธิกว่า 1,800 ล้านบาทและเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ 170% สูงกว่าเกณฑ์ที่ คปภ.กำหนดไว้ที่ 120%
สรุป : อาคเนย์ประกันภัย ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการพิจารณาจาก คปภ.ว่าจะอนุญาตให้เลิกกิจการหรือไม่ ดังนั้น ผู้เอาประกันภัย หากต้องการเรียกร้อง เคลมประกัน เนื่องจากประกันยังคุ้มครองอยู่ โดยเบื้องต้นติดต่อขอรับผลประโยชน์จากการถือกรมธรรม์นั้น ที่ตัวแทนบริษัทประกันก่อน หากไม่ได้รับคำตอบ หรือเกิดความสงสัย สามารถสอบถามขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ที่ คปภ.
- 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
- โทร. 0-2515-3999 หรือ สายด่วนประกันภัย 1186
- โทรสาร. 0-2515-3970
- เวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น.
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามความชัดเจนต่อว่าจะเป็นอย่างไร หาก คปภ.อนุญาตให้ อาคเนย์ประกันภัย เลิกกิจการ แล้วแนวทางการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยจะเป็นอย่างไร จะมาอัพเดทต่อไป
ข้อมูล : มติชน, ข่าวสด
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
กดเลย >> community แห่งความบันเทิง
ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี