รีเซต

อุบลไบโอ ZERO WASTE เปิดบ้านโชว์เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียครบวงจร มูลค่ากว่า 1,000 ล้าน

อุบลไบโอ ZERO WASTE เปิดบ้านโชว์เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียครบวงจร มูลค่ากว่า 1,000 ล้าน
มติชน
24 ธันวาคม 2563 ( 18:38 )
208

อุบลไบโอ ZERO WASTE เปิดบ้านโชว์เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียครบวงจร มูลค่ากว่า 1,000 ล้าน
อุบลราชธานี – อุบลไบโอ ZERO WASTE เปิดบ้านโชว์เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียครบวงจร มูลค่ากว่า 1,000 ล้าน ยกระดับกากมันสำปะหลัง เชื่อมโยงคุณค่าทางการเกษตร ผลิตพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 24 ธันวาคม นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดตัว “โครงการระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อการเกษตร และผลิตพลังงานไฟฟ้า” (Bio Treatment for Green Environment) ของ บริษัท อุบลซันฟลาวเวอร์ จำกัด บริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลต่อจิ๊กซอว์การบำบัดของเสียครบวงจรที่สุดในประเทศไทยรวม 4 ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มระบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge) มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น เกษตรกรผู้ใช้น้ำ และชุมชนโดยรอบโรงงานเข้าร่วมกว่า 100 คน ณ บริษัท อุบลซันฟลาวเวอร์ จำกัด 299 หมู่ 9 บ้านหนองแปน ต.นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี ภาพรวมของการบริหารจัดการของเสียที่ได้จากกระบวนการผลิตของ 2 โรงงาน ได้แก่ บริษัท อุบลซัน ฟลาวเวอร์ จำกัด โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง, แป้งมันออร์แกนิค, แป้งฟลาว และ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) โรงงานผลิตเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง 99.8% และเกรดอุตสาหกรรมสำหรับทำความสะอาดมือ 70%

 

ปัจจุบันทางบริษัทฯ มีการบริหารจัดการของเสียครบวงจร โดยเริ่มจาก บริษัท อุบลซันฟลาวเวอร์ จำกัด “น้ำเสีย และกากมันฯ จากโรงงานแป้งมันสำปะหลัง” น้ำเสียจะนำเข้าสู่ระบบบำบัดที่เรียกว่าระบบ UASB (Upflow Anaerobic Sludge Blanket) เป็นการบำบัดน้ำด้วยจุลินทรีย์ ในถังซีเมนต์แบบไร้อากาศขนาดใหญ่ (เปิดดำเนินการเมื่อปี 2553) และกากมันฯ จะนำเข้าสู่ระบบ CLBR (Covered Lagoon Bio Reactor) (เปิดดำเนินการเมื่อปี 2558) ซึ่งเป็นระบบบ่อหมักกากจำนวน 3 บ่อ ขนาดบ่อละ 43,000 ลบ.ม คลุมด้วยผ้า HDPE มีความยืดหยุ่นและกันน้ำ เพื่อสร้างสภาวะไร้อากาศ สามารถ กักเก็บก๊าซจากการย่อยสลายของแบคทีเรีย สองระบบนี้สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 168,000 ลบ.ม./วัน ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้จะนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 7.5 เมกกะวัตต์ และนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนการใช้น้ำมันเตาในการอบแป้งให้แห้ง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 514,012 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ลดต้นทุนพลังงานโดยสามารถช่วยประหยัดงบประมาณคิดเป็นมูลค่า 81 ล้านบาทต่อปี

 

 

และในส่วนของการบำบัดน้ำเสียของโรงแป้งแห่งนี้ได้ลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มเติมที่เรียกว่า “ระบบตะกอนเร่ง” (Activated Sludge) มีการทดสอบระบบแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ทำหน้าที่บำบัดซ้ำอีกครั้งต่อจาก 2 ระบบข้างต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นระบบบำบัดน้ำเสียชีวภาพแบบผสม (Combined Biological Treatment System) โดยการทำงานร่วมกันระหว่างระบบไร้อากาศ (Anaerobic System) และระบบการเติมอากาศ (Aerobic System) จะใช้วิธีการเลียนแบบธรรมชาติด้วยการให้จุลินทรีย์แขวนลอยเข้ามาย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย จากนั้นน้ำจะไหลผ่านแผ่นชีวภาพซึ่งถูกออกแบบมาคล้ายเป็นแผ่นลูกฟูกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสารอินทรีย์ในน้ำเสีย จากนั้นน้ำจะไหลผ่านแผ่นชีวภาพซึ่งถูกออกแบบ มาคล้ายเป็นแผ่นลูกฟูกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าจัดวางแบบซิกแซก โดยจะเป่าอากาศจากด้านล่างของแผ่นชีวภาพเข้าไปช่วยเพิ่มการละลายออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า สามารถลดระยะเวลาการพักน้ำในบ่อพัก (Oxidation Pond) จาก 190 วัน เหลือเพียง 2 วันเท่านั้น ลดการใช้พื้นที่จากเดิม 121 ไร่ เหลือเพียง 2 ไร่ สามารถยกเลิกการใช้บ่อพักน้ำฯ ได้ 100 %

 

 

ปัจจุบันน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรทั้งพืชไร่ และพืชสวนโดยการนำไปใช้ประโยชน์ทางบริษัทฯ ใช้งบประมาณลงทุนเพื่อเพิ่มคุณค่าจากน้ำเสีย สร้างประโยชน์ ทางการเกษตรจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นอาหารสัตว์ และพลังงาน บนที่ดิน ของบริษัทฯ จำนวน 1,200 ไร่ และโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำบำบัดเพื่อการเกษตร ที่มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านการขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนสมาชิก 463 ครัวเรือน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาเยีย และอำเภอสว่างวีระวงศ์ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ รวมมูลค่าโครงการกว่า 500 ล้านบาทที่บริษัทฯ ลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์ท่อส่งน้ำ ปั๊มระบบไฟฟ้า และบ่อพักน้ำ

 

 

ส่วนการบริหารจัดการของเสียของบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) “น้ำเสีย และกากมันฯจากโรงงานเอทานอล” น้ำเสียจะนำเข้าสู่ระบบบำบัดที่เรียกว่า MUR (Methane Upflow Reactor) เป็นการบำบัดน้ำด้วยจุลินทรีย์ในถังเหล็กแบบไร้อากาศขนาดใหญ่ พร้อมดำเนินการเมื่อปี 2557 สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 98,000 ลบ.ม. / วัน และแปลงเป็นพลังงานความร้อนนำไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ชีวมวล สำหรับหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 333,056 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ลดต้นทุนพลังงานโดยสามารถช่วยประหยัดงบประมาณคิดเป็นมูลค่า 130 ล้านบาทต่อปี กากมันของโรงงานเอทานอล ภายหลังจากการหมักด้วยยีสต์จะเข้าสู่เครื่องแยกกาก (Decanter) ทางบริษัทฯ ได้ลงทุนโครงการวิจัยกากมันฯ เป็นสารปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการเกษตร ร่วมกับสำนักวิจัย และพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 และสถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี

 

โดยนำกากมันฯ มาตาก และฉีดพ่นจุลินทรีย์ช่วยเร่งการย่อยสลาย สารปรับปรุงดินสามารถเป็นอินทรีย์วัตถุช่วยปรับโครงสร้างดินทรายให้มีความชุ่มชื้น และมีธาตุอาหารที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นสารปรับปรุงดินสูตร 1 ส่งเสริมให้กับเกษตรกรโครงการปลูกมันอินทรีย์นำไปใช้ในการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล และในอนาคตกากมันจากโรงงานเอทานอลจะพัฒนางานวิจัยไปสู่อาหารสัตว์ ที่มีโปรตีนสูงที่ตอบโจทย์การเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพส่งเสริมอาหารลดต้นทุน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นและทั้งหมดนี้คือปณิธานอันแรงกล้าของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ในเรื่องการจัดการของเสียพร้อมดำเนินงานภายใต้นโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยกันสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ควบคู่กับจังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งการเรียนรู้ และผลิตพลังงานสะอาด และอาหารสุขภาพของประเทศไทยต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง