รีเซต

เกษตรฯลุยปลด 13 สมุนไพรจากวัตถุอันตราย เปิดทางพัฒนายาปราบศัตรูพืชทดแทน หลังแบน 3 สาร

เกษตรฯลุยปลด 13 สมุนไพรจากวัตถุอันตราย เปิดทางพัฒนายาปราบศัตรูพืชทดแทน หลังแบน 3 สาร
ข่าวสด
14 กรกฎาคม 2563 ( 13:59 )
154
เกษตรฯลุยปลด 13 สมุนไพรจากวัตถุอันตราย เปิดทางพัฒนายาปราบศัตรูพืชทดแทน หลังแบน 3 สาร

 

กระทรวงเกษตรฯ ลุยปลด 13 สมุนไพร ได้แก่ สะเดา, ชา กากเมล็ดชา, ข่า, ขิง, ขมิ้นชัน, ตะไคร้หอม, ดาวเรือง, พริก, คื่นช่าย, สาบเสือ, ชุมเห็ดเทศ, ดองดึง, และหนอนตายหยาก ออกจากวัตถุอันตราย เปิดทางพัฒนายาปราบศัตรูพืชทดแทน หลังแบน 3 สาร - ยันไม่กระทบเกษตรกร

เกษตรฯลุยปลด 13 สมุนไพร - นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ปลดสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา, ชา กากเมล็ดชา, ข่า, ขิง, ขมิ้นชัน, ตะไคร้หอม, ดาวเรือง, พริก, คื่นช่าย, สาบเสือ, ชุมเห็ดเทศ, ดองดึง, และหนอนตายหยาก ออกจากทะเบียนวัตถุอันตรายชนิดที่ 2(วอ.2) เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1(ว.อ1) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการวิจัยและพัฒนาเป็นยาปราบศัตรูพืช และจำกัดแมลงทำลายพืช หลังมีการแบน 3 สารเคมี คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่ใช้กำจัดแมลง และฆ่าหญ้า

ทั้งนี้ การดำเนินการปลดสมุนไพรออกจาก พืช วอ.2 เพราะ วอ.2 หากใครมีครอบครองต้องขึ้นทะเบียนมีขั้นตอนยุ่งยาก หากปรับมาอยู่ใน วอ.1 กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้า หรือผู้มีในครอบครองไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย แต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงว่าครอบครอง วอ.1 อยู่

“ตามกฏหมายกำหนดไว้สารใดๆ ก็ตามสามารถจำกัดแมลงได้ หรือมีฤทธิ์ทำให้แมลงเสียชีวิต และมีการขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตราย หมายถึงสาร หรือพืชชนิดนั้น สามารถเป็นสารตั้งต้น หรือเป็นส่วนผสม ทำเป็นยาฆ่าแมลง หรือยาปราบศัตรูพืชได้ และต้องทำเพื่อการพาณิชย์ เข้าข่าย วอ.2 ต้องขึ้นทะเบียน ถือเป็นวัตถุอันตราย หากมีการพิจารณาปลดพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดนี้ มาอยู่ใน วอ.1 ก็ไม่ต้องขึ้นทะเบียน แต่ต้องแจ้งเจ้าพนักงานให้ทราบว่ามีครอบครอง ส่วนเกษตรกรที่ประกอบการอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว มีการสกัดสารมาใช้ในครัวเรือน ตามวิถีของชาวบ้านไม่ต้องแจ้งเจ้าพนักงาน ถือว่าไม่เข้าข่าย ถือครองวัตถุอันตราย”

นายอนันต์ กล่าวว่า เรื่องทะเบียนวัตถุอันตราย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2552 ให้ ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำไปใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุม แมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เป็นวัตถุอันตราย และมีการต่อต้านจากประชาชน ทำให้การปรับปรุงทะเบียน 13 พืชสมุนไพร เลื่อนจาก วอ.1 เป็น วอ.2 และเลื่อนจาก วอ.2 เป็น วอ.1 หลายครั้ง หลายสมัย เพราะคนไม่เข้าใจ เพราะ การปรับปรุงทะเบียน ไม่มีผลกระทบต่อการนำไปใช้ของประชาชน จะมีผลต่อการพัฒนา และการนำไปพัฒนาเพื่อการค้าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากการขึ้นทะเบียนของกรมวิชาการเกษตร พบว่า สารธรรมชาติ จะแยกออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ สารสกัดธรรมชาติจากพืชได้จากการสกัดจริง จะได้สารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ในการกำจัดศัตรูพืช เพียว 100% ใช้เพียงนิดเดียวก็มีความเป็นพิษ และมีความเป็นพิษมาก สารสกัดธรรมชาติ จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน ตามทะเบียน วอ.1 ส่วนสารธรรมชาติจากพืชที่ไม่ผ่านการสกัด ซึ่งไม่สามารถทำการปลดล็อกสารธรรมชาติถือว่า เป็นสารธรรมชาติจากพืชที่ไม่ผ่านการสกัด เช่น การนำไปตากแห้ง บ่ม สับ แล้วนำมาใช้เลย ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน ไม่ต้องแจ้งว่ามีสารสำคัญในปริมาณเท่าไหร่ หรือใช้ในอัตราเท่าไหร่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง