รีเซต

ย้อนเส้นทางแบน 3 สารเคมีเกษตร

ย้อนเส้นทางแบน 3 สารเคมีเกษตร
Oopsoi5
31 สิงหาคม 2563 ( 10:29 )
1.1K
ย้อนเส้นทางแบน 3 สารเคมีเกษตร

เรียกว่าเป็นข้อถกเถียงกันเป็นอย่างมากสำหรับการยกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลไพริฟอส ที่ถูกห้ามใช้ในหลายประเทศรวมทั้งในสหภาพยุโรป จีน และในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา วันนี้ trueID news จะย้อนเส้นทางแบน 3 สารเคมีเกษตรดังกล่าวว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร 

 

 

ขอบคุณภาพประกอบ : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

 

5 เมษายน 2560 กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงจาก 4 กระทรวงหลักมีมติให้แบน พาราควอต คลอร์ไพริฟอสและจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ภายในสิ้นปี 2562 โดยเรียกร้องกรมวิชาการเกษตรยุติการต่อทะเบียนใหม่และจำกัดการนำเข้า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยทันที

 

19 พฤศจิกายน 2560 กรมวิชาการเกษตรต่อทะเบียนอนุญาตให้บริษัทซินเจนทาและดาวอะโกรไซแอนด์นำเข้าพาราควอตสวนข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุข

 

30 มกราคม 2561 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ 3 กระทรวงหาข้อยุติการแบน

 

15 กุมภาพันธ์ 2561 3 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงที่ให้ดำเนินการออกประกาศ ยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส โดยยุติการนำเข้าภายในธันวาคม 2561 และยุติการใช้ทั้งหมดภายในธันวาคม 2562 และให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซตอย่างเข้มข้น

 

23 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 รายการ โดยให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการยกร่างแผนการจำกัดการใช้สารทั้ง 3 ชนิด

 

5 มิถุนายน 2561 ตัวแทน 686 องค์กร ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลและยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ

 

16 กรกฎาคม 2561 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีฯเพื่อศึกษาข้อมูลวิชาการเพิ่มเติม

 

23 พฤศจิกายน 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบนพาราควอตในสิ้นปี 2562 ตามกำหนดการเดิม

 

14 กุมภาพันธ์ 2562 กรรมการวัตถุุอันตรายลงมติลับไม่แบน 3 สารพิษด้วย คะแน 16:5

ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานกรรมการวัตถุอันตรายให้พิจารณาควบคุมพาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ภายในเดือนธันวาคม 2562 และให้เป็นการลงมติแบบเปิดเผย โดยไม่มีกรรมการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ในวันเดียวกันนี้ นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติ 16 ต่อ 5 เสียง สนับสนุนให้มีการใช้สารพาราควอต ส่วนที่เหลืออีก 5 เสียงงดออกเสียง โดยเสียงส่วนใหญ่ให้ยืนตามมติเดิมที่ระบุว่ายังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตตามเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยให้ใช้เฉพาะพืช 6 ชนิด ได้แก่ ยางพารา, ปาล์ม, มันสำปะหลัง, อ้อย, ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น ทั้งนี้ระหว่างนี้ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินตามมาตรการ 5 ข้อที่เสนอมา เช่น ทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมีและหาวิธีทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค จัดอบรมให้ความรู้โครงการนำร่องทดสอบหลักสูตรผู้พ่นสารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช คาดจะมีความชัดเจนภายใน 2 ปีว่าประเทศไทยจะเลิกหรือไม่เลิกใช้สารดังกล่าว

 

9 สิงหาคม 2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำต้องยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชความเสี่ยงสูง 3 ชนิดให้ได้ก่อนสิ้นปี 2562 พร้อมสั่งกรมวิชาการเกษตรชะลอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการอนุญาตหรือต่อทะเบียนทั้งหมดเพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ ลั่นเห็นพ้อง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยกเลิกแน่

 

13 กันยายน 2562 สภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียง 399 ต่อ 0 เสียง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาควบคุมการใช้สารเคมีการเกษตร โดย ส.ส. จากทุกพรรคล้วนอภิปรายไปในแนวทางเดียวกันถึงการเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง

 

18 กันยายน 2562 กรมการวัตถุอันตรายอ้างคำสั่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าได้มอบหน้าที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือ 4 กลุ่ม รวมถึงผู้นำเข้าเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการแบน 3 สารพิษ

 

23 กันยายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เรื่องความคืบหน้าในการแบนสารพิษทางการเกษตรว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องของสารพิษและยาฆ่าหญ้า ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่สนับสนุนการใช้ต่อไป เนื่องจากได้ผลเป็นที่ชัดเจนว่ามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากการสัมผัสสารพิษเหล่านั้น ทำให้ยากต่อการรักษาและกลับมาเป็นปกติ หากได้รับการสัมผัสมากอาจเสียชีวิตได้

 

9 ตุลาคม 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และอธิบดีทุกกรม ร่วมประชุม VDO ทางไกลเรื่องแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิด ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผอ.โรงพยาบาลทั่วประเทศ นายอนุทินกล่าวว่า การขึ้นป้ายแบนสารเคมีตามโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ขอให้หน่วยงานที่ขึ้นป้ายต่อต้านอยู่ขณะนี้คงมาตรการนี้ไว้จนกว่าจะสิ้นสุดและทราบผลการประชุม หากผลการประชุมออกมาไม่ดี ขอให้ขึ้นป้ายคัดค้านเอาไว้อย่างนั้น

 

22 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการวัตถุมีพิษ ประชุมครั้งที่ 41-9/2562มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับวัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิด จากวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผล 1 ธันวาคม 2562(ห้ามนำเข้า ส่งออก ผลิต ใช้และครอบครอง รวมถึงห้ามไม่ให้มีสารตกค้างในพืชและอาหารด้วย)

 

3 พฤศจิกายน 2562 กระทรวงเกษตรและการค้า สหรัฐอเมริกา ทำหนังสือถึง นรม. ขอให้ชะลอการแบนไกลโฟเซต เนื่องจากกระทบต่อการค้ากากถั่วเหลือง เมล็ดถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล องุ่น การค้าระหว่างไทย-สหรัฐ อาจเสียหายถึง 1,700 ล้านเหรียญ)ความกังวลของUSA เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข มีประกาศเลขที่ 387 พ.ศ. 2560 ระบุครอบคลุมห้ามมิให้มีสารตกค้างของวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ในพืชและอาหาร นอกจากนี้ USA ยังอ้างด้วยว่า ไกลโฟเซต เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก และอ้างการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของคน โดยสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (EPA) ที่ว่าไกลโฟเซตไม่มีส่วนทำให้เกิดออันตรายต่อร่างกายมนุษย์

 

26 พฤศจิกายน 2562 นายกสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทย เสนอว่า รัฐบาลควรหันไปใช้มติเดิม คือให้ลด ละ เลิก ให้เวลาในการศึกษาอบรม ทำความเข้าใจ และหาสารเคมีมาทดแทน เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ อุตสาหกรรมทั้งห่วงโซ่การผลิตจะได้รับความเสียหายทั้งตัวเกษตรกร และการจ้างงาน ประเทศผู้ส่งออกกากถั่วเหลือง ถั่วเหลือง ข้าวสาลีกำลังเคลื่อนไหวในองค์การค้าโลก WTO ต้องการให้ประเทศไทยชี้แจงว่า มติการแบนของคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิสูจน์ด้วยหลักฐานอะไร หากไม่มีหลักฐานยืนยันได้ เท่ากับประเทศไทยไปกีดกันทางการค้า

 

26 พฤศจิกายน 2562 กลุ่มคัดค้านการแบน 3 สารเคมีอันตราย ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกรปลอดภัย กลุ่มเครือข่ายคนรักแม่กลอง กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรและแนวร่วมผู้ได้รับผลกระทบจากการแบน 3 สารเคมีเกษตร สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (TAITA) สมาคมไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย ประมาณ 2000 คน นัดกันแต่งชุดดำชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยออกแถลงการณ์คัดค้านการยกเลิกการนำเข้า พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในภาคการเกษตร ทำให้เกษตรกรกว่า 2 ล้านครัวเรือน
ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ เนื่องจากการยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิด อย่างเร่งรีบและไม่มีมาตรการรองรับ และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่มีสารทั้ง 3 ตกค้าง ตามเงื่อนไขในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 การประกาศยกเลิกดังกล่าว จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 73 ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณ และคุณภาพสูง มีความปลอดภัยโดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้”

 

27 พฤศจิกายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า “เรื่อง 3 สารเคมีทางการเกษตร ก็ยังเป็นไปตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ประชุมไปเมื่อ วันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา ก็ชัดเจนแล้วว่า ทั้ง 3 สาร จะต้องหยุดใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. นี้ เป็นต้นไป” 

 

27 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตราย (ชุดใหม่ มีผลตั้งแต่ 28ตุลาคม 2562) ทบทวนมติคณะกรรมการ 22 ตุลาคม 2562 เลื่อนการประกาศกำหนด พาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ออกไปอีก 6 เดือน (1 มิถุนายน 2563) และให้จำกัดการใช้สารไกลโฟรเซต ตามมติคณะกรรมการฯ เมื่อ 23 พฤษภาคม 2561 โดยให้เหตุผลว่า หากมีการยกเลิกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จะส่งผลกระทบต่อต่อเกษตรกรและการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มพืชอาหาร เหตุผลที่มีมติให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซต เนื่องจากพบว่ายังมีการใช้สารนี้ใน 160 ประเทศ และการประชุมครั้งก่อน ไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หากประกาศห้ามใช้ไกลโฟเซต จะทำให้ไม่สามารถนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีจากสหรัฐฯ

 

26 เมษายน 2563 มีหนังสือจากนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยถึงรัฐนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศในการกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จาก 1 มิถุนายน 2563 เป็น 31 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจะสิ้นสุดลง

 

27 พฤษภาคม 2563 "ราชกิจจาฯ" เผยแพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตรเรียกเก็บคืนคลอร์ไพริฟอส-พาราควอต ให้แล้วเสร็จภายใน90วันเพื่อทำลายทิ้ง

 

22 มิถุนายน 2563 สหรัฐอเมริกาและบราซิล ได้แยกกันยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) คัดค้านแนวทางของไทยซึ่งแจ้งต่อดับเบิลยูทีโอว่า กำลังเตรียมการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีประเภทพาราควอตและ คลอไพริฟอส โดยอ้างว่า คำสั่งห้ามดังกล่าวเกิดจากการพยายามจำกัดการนำเข้า ไม่ได้เกิดจากความจำเป็น และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ใดๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพิษภัยของสารดังกล่าวเพื่อแสดงถึงความชอบธรรมของการห้ามนำเข้าของไทยตามข้อกำหนดใน ความตกลงองค์การการค้าโลกว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อันจะยังผลให้การค้าระหว่างประเทศถูกจำกัดลง สร้างความเสียหายให้กับทั้งสองประเทศรวมกันกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์.

 

 

 

 

ข้อมูล : คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

==========

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง