ธปท. เกาะติดหนี้ครัวเรือน เร่งออกมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90.6 ต่อ GDP มีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ในระยะต่อไปหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่จะไม่เห็น NPL Cliff หรือหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จนเป็นหน้าผาหนี้
อย่างไรก็ดี ธปท. จะเร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยแนวทางที่ ธปท. จะดำเนินการ คือ (1) เกณฑ์ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ หรือ Responsible Lending รวมถึงมีแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้
(2) กลไกเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม หรือ Risk-based pricing โดยหลักการสำคัญคือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง
และ (3) มาตรการกำกับดูแล หรือ Macroprudential policy ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสูงการก่อหนี้สินเกินตัว เช่น การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน (DSR) เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับแผนการนำใช้ ธปท. จะชี้แจงรายละเอียดในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ก่อนจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งคาดว่าส่วนของเกณฑ์ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ และการแก้หนี้เรื้อรัง จะบังคับใช้ก่อนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบและช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สำหรับในเรื่องมาตรการกำกับดูแล หรือ Macroprudential policy การนำมาใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : AFP