นับถอยหลัง 250 ปี ภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็ง "ปาตาโกเนีย" อาจไม่เหลืออยู่อีกเลย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบกับธารน้ำแข็งทั่วโลก ในช่วงที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์เฝ้าสังเกตและติดตามธารน้ำแข็งใน “ปาตาโกเนีย” พบว่าธารน้ำแข็งหดตัวลงอย่างรวดเร็วและส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น 0.07 มม./ปี สาเหตุจากการหมุนของชั้นบรรยากาศมีการเปลี่ยนแปลงทำให้อากาศอบอุ่นเข้ามาในปาตาโกเนียได้มากขึ้น
“ปาตาโกเนีย” ตั้งอยู่ในเทือกเขาแอนดีสตอนใต้ระหว่างชิลีและอาร์เจนตินา เป็นพื้นที่ที่มีธารน้ำแข็งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากแอนตาร์กติกา โดยเทือกเขาแอนดีสที่สูงใหญ่จะทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้นความชื้นจากมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการสะสมตัวของหิมะกว่า 15 เมตรในทุกปี แต่บริเวณพื้นที่ที่ต่ำกว่าต้องเผชิญกับอัตราการละลายของหิมะอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ในช่วงฤดูร้อนธารน้ำแข็งจะละลายลงอย่างรวดเร็ว และน้ำแข็งที่ละลายเหล่านี้ก็จะไหลลงสู่มหาสมุทรส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 1940 ปาตาโกเนียสูญเสียน้ำแข็งไปมากกว่า 1 ใน 4 และระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นแล้วอย่างน้อย 3.7 มม. ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าปรากฏการณ์นี้เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ความกดอากาศในเขตร้อนชื้นเคลื่อนตัวไปทางขั้วโลก เกิดการหย่อนของชั้นบรรยากาศทำให้อากาศอบอุ่นไหลเข้ามาในปาตาโกเนียได้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นความกังวลของนักวิทยาศาสตร์ หากอนาคตอัตราการละลายของธารน้ำแข็งยังเทียบเท่ากับปัจจุบันก็อาจทำให้ธารน้ำแข็งในปาตาโกเนียจะหายไปทั้งหมดภายในระยะเวลา 250 ปี และระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 1 ซม. การสูญเสียธารน้ำแข็งที่สำคัญนี้จะกระทบไปถึงอเมริกาใต้ที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำจืดจากธารน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อน สัตว์และสิ่งมีชีวิตมากมายไม่มีที่อยู่อาศัย และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นอกจากนี้ระบบหมุนเวียนในมหาสมุทรและกระแสลมจะเสียสมดุล ส่งผลกระทบต่อสภาพาอากาศทั่วโลก อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น หรืออาจเปลี่ยนแปลงฤดูกาลของโลกไปได้