รีเซต

มิติใหม่แห่งการรักษา ด้วยการปลูกถ่ายอุจจาระที่ดีต่อสุขภาพ

มิติใหม่แห่งการรักษา ด้วยการปลูกถ่ายอุจจาระที่ดีต่อสุขภาพ
TNN ช่อง16
15 พฤศจิกายน 2565 ( 09:00 )
95
มิติใหม่แห่งการรักษา ด้วยการปลูกถ่ายอุจจาระที่ดีต่อสุขภาพ

ปัจจุบัน มีการวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายอุจจาระ เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือโรคเบาหวาน, มะเร็งผิวหนัง หรือภาวะออทิสติก แต่แนวคิดการปลูกถ่ายอุจจาระนั้นก็ยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้น โดยเริ่มต้นจากสมมุติฐานที่ว่า มีแบคทีเรียหลายพันล้านตัวอาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ และมีบทบาทสำคัญสำหรับสุขภาพ แต่การนำเอาความรู้ดังกล่าวมาใช้ในการแพทย์ยังคงมีความคลุมเครืออยู่ 


โดยหน่วยงานคณะกรรมการการบำบัดดูแลแห่งชาติออสเตรเลีย (TGA) ได้อนุมัติให้ ไบโอมแบงค์ (BiomeBank) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์บำบัดด้วยไมโครไบโอม หรือจุลินทรีย์ในลำไส้ของมนุษย์ ด้วยยา ไบโอมิคทรา (BIOMICTRA) เพื่อรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย Clostridioides difficile หรือ C. diff โดยเฉพาะ ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหลังมีการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด และจะทำให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเป็นครั้งแรกของโลกที่มีหน่วยงานทางการอนุมัติให้มีการรักษาประเภทนี้


ไบโอมแบงค์ได้ผลิตภัณฑ์ตัวยาที่นำมาจากอุจจาระของกลุ่มผู้บริจาคที่เป็นคนหนุ่มสาวสุขภาพดี และบริจาคอุจจาระในพื้นที่ควบคุมของบริษัท จากนั้น ผลิตภัณฑ์จะถูกแปรรูปเป็นหลอดฉีดยา แช่แข็ง และส่งไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อทำการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อด้วยการสวนทวารหนัก


ทั้งนี้ แซม ฟอสเตอร์ (Sam Foster) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของไบโอมแบงค์ เผยว่า ไบโอมแบงค์กำลังคิดค้นการผลิตระบบแคปซูล แต่วิธีการจัดส่งในปัจจุบันและวิธีที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการดูแลการบำบัดฯ คือการสวนทวารหนัก ซึ่งทางบริษัทอธิบายว่า เป็นวิธีการที่ดีกว่าการกินยาเป็นเม็ด หรือแคปซูล เพราะหากต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของไบโอมแบงค์จำนวนมากในการรักษา ผู้ป่วยอาจเกิดความกระอักกระอ่วนในวิธีการกินยาตามปกติ ทั้งนี้ ไบโอมแบงค์ กำลังคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ เพื่อปลูกถ่ายอุจจาระ โดยบริษัทกำลังสร้างกลุ่มแบคทีเรียสายพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อการปลูกถ่ายแบคทีเรียที่ถูกเพาะเลี้ยง


สำหรับการปลูกถ่ายอุจจาระนั้น มีวิธีการใช้โดยเริ่มจากผู้บริจาคที่มีสุขภาพดี บริจาคอุจจาระ และนำเอามาดัดแปลงมาใส่แคปซูลหรือยาสวนทวารให้ผู้ป่วยบริโภค โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมจำนวนจุลินทรีย์ หรือแบคทีเรียมีประโยชน์ในลำไส้ของผู้ป่วย แต่มีปัญหาที่ว่า สภาพของอุจจาระของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ด้วยความไม่แน่นอนนี้ ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลใดในโลกที่อนุญาตให้มีการบำบัดด้วยการปลูกถ่ายอุจจาระโดยเฉพาะ แต่มีกรณีตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) อนุญาตให้ใช้การปลูกถ่ายอุจจาระทางคลินิกอย่างไม่เป็นทางการภายใต้บทบัญญัติที่เรียกว่า "ดุลยพินิจในการบังคับใช้” (Enforcement Discretion) ซึ่งหมายความว่าหากผู้ป่วยสามารถจัดหาแหล่งอุจจาระที่ดีต่อสุขภาพของตนเองได้ แพทย์ก็สามารถดูแลการบริหารการปลูกถ่ายอุจจาระได้ และจะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายใด ๆ เกิดขึ้น


ที่มาของข้อมูล newatlas.com

ที่มาของรูปภาพ Jan Antonin Kolar




ข่าวที่เกี่ยวข้อง