รีเซต

นักวิทย์ฯ ชี้ดาวเคราะห์น้อยที่ระเบิดเหนือเบอร์ลิน หมุนรอบตัวเองเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ

นักวิทย์ฯ ชี้ดาวเคราะห์น้อยที่ระเบิดเหนือเบอร์ลิน หมุนรอบตัวเองเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ
TNN ช่อง16
13 พฤษภาคม 2567 ( 11:11 )
81

นักฟิสิกส์มักซีม เดโวเจล (Maxime Devogèle) มหาวิทยาลัยฟลอริดากลาง เปิดเผยผลการคำนวณวิถีโคจรและการชนของดาวเคราะห์น้อย 2024 BX1 ที่ระเบิดเหนือชั้นบรรยากาศกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่หมุนรอบตัวเองเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ โดยใช้ความเร็ว 2.6 วินาที และใช้ความเร็วพุ่งไปข้างหน้า 50,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยผลการคำนวณครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และตีพิมพ์ลงคลังบทความทางวิชาการ arXiv เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา


โดยปกติแล้วการค้นพบดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กที่มุ่งหน้ามายังโลกด้วยความเร็วสูงสามารถทำได้ยาก และส่วนใหญ่มักมีการค้นพบก่อนการพุ่งชนไม่นาน อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ข้อมูลวิถีการโคจรและภาพถ่ายเพื่อคำนวณระบุข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ ย้อนหลังได้ 


ดาวเคราะห์น้อย 2024 BX1 ถูกค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวฮังการี คริสเตียน ซาร์เนซกี้ (Krisztián Sárneczky) โดยใช้หอดูดาวคอนโคลี (Konkoly) บริเวณเทือกเขามาตรา (Mátra) ประเทศฮังการี เมื่อวันที่ 20 มกราคม ก่อนการพุ่งชนและระเบิดบนชั้นบรรยากาศโลกประมาณ 1 วัน โครงสร้างดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร โดยภายหลังการระเบิดบนชั้นบรรยากาศพบว่าไม่มีผลกระทบที่รุนแรงกับพื้นโลก


เทคนิคที่ใช้ในการคำนวณความเร็วการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์น้อย นักวิจัยได้ใช้การปรับขนาดรูรับแสงของกล้องโทรทรรศน์ในหอดูดาว เพื่อให้มองเห็นตำแหน่งดาวดวงต่าง ๆ ในภาพพื้นหลังได้ชัด และปล่อยให้ดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่ผ่านภาพปรากฏเป็นเส้นแสง หลังจากนั้นนำภาพถ่ายมาทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าแสงจากดาวเคราะห์น้อย กับพื้นหลังที่มองเห็นตำแหน่งดวงดาวต่าง ๆ ผลการคำนวณพบว่าดาวเคราะห์น้อย 2024 BX1 มีการหมุนรอบตัวเอง 33,000 รอบต่อวัน หรือประมาณ 2.588 วินาทีต่อรอบ


เจ้าของสถิติดาวเคราะห์น้อยที่หมุนรองตัวเองเร็วที่สุดที่เคยถูกค้นพบเป็นดาวเคราะห์น้อยชื่อว่า 2020 HS7 ถูกค้นพบในปี 2020 นักวิทยาศาสตร์คำนวณพบว่าใช้ความเร็วหมุนรอบตัวเอง 2.99 วินาทีต่อรอบ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-8 เมตร หรือมีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์น้อย 2024 BX1 เล็กน้อย 


นักวิทยาศาสตร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์น้อยมีสาเหตุจากหลายประการ เช่น การถูกผลักจากการชนกับดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กกว่า โดยดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กมีโอกาสที่จะหมุนรอบตัวเองได้เร็วมากกว่าดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ นอกจากดาวเคราะห์น้อย 2024 BX1 นักฟิสิกส์มักซีม เดโวเจล (Maxime Devogèle) ได้ทำการศึกษาและคำนวณการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์น้อยอีก 2 ดวง คือ 2023 CX1 และ 2024 EF เพิ่มเติม


ที่มาของข้อมูล Space, Wikipedia

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง