รีเซต

กรมวิทย์ฯ เตรียมหาอาสาสมัครเคย "ปลูกฝี" ในอดีต ทดสอบวัคซีนโรคฝีดาษลิง

กรมวิทย์ฯ เตรียมหาอาสาสมัครเคย "ปลูกฝี" ในอดีต ทดสอบวัคซีนโรคฝีดาษลิง
TNN ช่อง16
31 กรกฎาคม 2565 ( 13:49 )
154
กรมวิทย์ฯ เตรียมหาอาสาสมัครเคย "ปลูกฝี" ในอดีต ทดสอบวัคซีนโรคฝีดาษลิง

วันนี้ (31 ก.ค.65) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยกับสำนักข่าว TNN ช่อง 16  ว่าเตรียมหาอาสาสมัครที่เคย "ปลูกฝี" โรคฝีดาษในอดีตของประเทศไทยช่วงปี 2520 และ ปี 2522 เพื่อมาเจาะเลือด นำมาทดสอบกับ "วัคซีนโรคฝีดาษ" ซึ่งได้เก็บสำรองไว้เป็นทางเลือก เนื่องจากเป็นวัคซีนรุ่นเก่า รูปแบบการฉีด คือ ต้องปลูกฝี อาจทำให้มีแผลเป็นได้  

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้ดำเนินการได้ขอเก็บตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยยืนยันโรค "ฝีดาษลิง" ที่พบในไทยเพื่อทำการเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการ เพื่อทดสอบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโรคฝีดาษ

ขณะที่ กรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการจัดหาวัคซีนโรคฝีดาษ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาวัคซีนในรุ่นที่ 3 ซึ่งไม่ต้องปลูกฝี แต่พบว่าราคาค่อนข้างสูง 

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยังไม่ได้มีคำแนะนำว่า คนทั่วไปมีความจำเป็นที่จะต้องรับวัคซีนดังกล่าว เนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคและความรุนแรงอาจจะยังไม่ถึงข้อกำหนดที่ต้องรับวัคซีนทุกคน รวมถึงความเสี่ยงผลข้างหลังรับวัคซีนด้วย

แต่หากจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนโรคฝีดาษ อาจจะพิจารณาในเรื่องของกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเฉพาะก่อน เช่น เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการในการตรวจเชื้อ หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ เมื่อติดเชื้อแล้วอาจจะมีความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นได้

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าพบผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 47 ปี ติดเชื้อจากชายต่างชาติ ก่อนได้รับผลตรวจ PCR ยืนยันโรคฝีดาษวานรวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

และผลตรวจวิเคราะห์พบเป็นสายพันธุ์ Western African B.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในแถบประเทศยุโรป ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคได้ทำการฆ่าเชื้อในบ้านของผู้ป่วยแล้ว 

พร้อมเก็บตัวอย่างจากผู้สัมผัสในบ้าน 2 หลัง รวม 17 คน เพื่อส่งตรวจในวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผลตรวจออกมาแล้ว 16 คน ผลเป็นลบ และรอผลตรวจอีก 1 คน ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังต่อจนครบ 21 วัน

นพ.โสภณ ระบุว่า "โรคฝีดาษลิง" ที่พบการระบาดในยุโรปส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายรักชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ซึ่งหากมีการป้องกันที่ถูกต้องและปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยง โดยการไม่สัมผัสใกล้ชิดและมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงได้ 

ทั้งนี้ "โรคฝีดาษลิง" ไม่ได้ติดต่อง่าย ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อขั้นสูงสุด หรือ Universal Prevention โดยล้างมือด้วยสบู่ หรือ แอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย และโดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า 

หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้จัก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษวานร หากมีอาการป่วยสงสัย สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ภาพจากแฟ้มภาพ AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง